Home ข่าวทั่วไปรอบวัน เรียกคืน “เต้านมเทียม”ชนิดขรุขระ พบก่อให้เกิดมะเร็งชนิดหายาก

เรียกคืน “เต้านมเทียม”ชนิดขรุขระ พบก่อให้เกิดมะเร็งชนิดหายาก

699
0
SHARE

วันที่ 6 ส.ค.62 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขา อย.ธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย รศ.นพ.ศิรชัย จินดารักษ์ นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงการเรียกคืนเต้านมเทียมซิลิโคน ชนิดผิวขรุขระ (BIOCELL) ชื่อทางการค้าคือ นาเทรล (NATRELLE) ซึ่งได้รับข้อมูลจาก บริษัท แอลเลอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท นีโอฟาร์ม จำกัด ที่ได้แจ้งขอเรียกคืนผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคนดังกล่าว ที่ยังไม่ได้ฝังเข้าร่างกาย เนื่องจากพบความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหายาก ที่สัมพันธ์กับการเสริมเต้านมเทียมและอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์คือ Allergan Plc สหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืนของ บริษัท แอลเลอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ได้แก่
1. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น เอสที-410 เอ็มเอฟ
2. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 120
3. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น เอสที-410 เอ็มเอ็ม
ในส่วนของบริษัท นีโอฟาร์ม จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืนได้แก่
1. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 110
2. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 120
3. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น ST-410 MF
4. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น ST-410 MM

ทั้งนี้ไม่รวมผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคน ชนิดผิวขรุขระ (MICROCELL) ชื่อทางการค้าคือ CUI MHP และ CUI MLP และผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคน ชนิดผิวเรียบ (Smooth) ชื่อทางการค้าคือ CUI SLD และ CUI SHD

รศ.นพ.ศิรชัย จินดารักษ์ นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนี้เป็นชนิด Non-Hodgkin’s Lymphoma ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะเกิดบริเวณรอยแผลที่มีการใส่เต้านมเทียมซิลิโคน ซึ่งไม่ใช่มะเร็งเต้านมที่เกิดจากเนื้อเนื่อของเต้านม ขออย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะการอุบัติเกิดต่ำมาก แต่เมื่อมีความเสี่ยงจึงต้องขอแจ้งให้ทราบเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ต่อไป

ด้าน ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนการทำศัลยกรรมเต้านม ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ให้ดี รวมทั้งเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด สำหรับผู้ที่มีการศัลยกรรมใส่เต้านมเทียมซิลิโคนดังกล่าวนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่าออก ควรตรวจสอบว่าตนเองพบอาการผิดปกติหรือไม่ และติดตามการเปลี่ยนแปลงบริเวณเต้านมเทียมของตนเอง รวมทั้งบริเวณรักแร้จนถึงกระดูกไหปลาร้าอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ เช่น เจ็บ บวม เต้านมขยายขึ้นผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ทัน แนะนำไม่ให้นำเต้านมเทียมซิลิโคนออก หากไม่พบความผิดปกติใดๆ

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้จะได้มีการเรียกประชุมแพทย์และสถานพยาบาลเสริมความงามต่อไป เพื่อตรจสอบว่ามีการใส่เต้านมเทียมซิลิโคน ชนิดผิวขรุขระนี้ไปแล้วกี่ราย เพื่อที่จะได้ให้ตัวผู้ที่ใส่ได้รับรู้ และให้แพทย์เฝ้าระวังและตรวจสอบผู้ที่ใส่อย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของความรับผิดชอบ ทางบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย จะรับประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าให้ และผู้ที่สนใจเสริมหน้าอก ยังคงทำได้อย่างปลอดภัย แนะนำให้ใช้เต้านมเทียมซิลิโคน ชนิดผิวเรียบ ที่ไม่มีความเสี่ยงจะดีกว่า