นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเมื่อบ่าย 16 ส.ค.2562 ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า
“จากปัญหาเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนให้เกิดการใช้จ่าย และส่งเสริมนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศขยายการลงทุน ที่ประชุมคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 13 จังหวัด จึงมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือลูกค้า 909,000 ราย บรรเทาภาระดอกเบี้ย เป็นเวลา 1 ปี ธ.ก.ส.ยังเตรียมปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินภัยแล้ง วงเงิน 50,000 ล้านบาท ยกเว้นดอกเบี้ยปีแรกปล่อยกู้ 50,000 บาทต่อราย ยกเว้นดอกเบี้ยปีแรก รวมทั้งยังปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูซ่อมแซมความเสียหาย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ 500,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระต้นทุนการปลูกข้าวนาปีฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 สำหรับผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในเดือนสิงหาคมจำนวน 3 ล้านราย
2.มาตรการดูแลปรับเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ช่วง 2 เดือน สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท รับค่าครองชีพเพิ่ม 200 บาทต่อคน และกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี รับค่าครองชีพ 300 บาทต่อคน ทั้ง 2 กลุ่มได้รับเพิ่มเป็น 500 บาทในช่วงระยะสั้น 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 (ทั้ง2กลุ่มขึ้นทะเบียนไว้14.6ล้านคน) และยังจ่ายเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุถือบัตรสวัสดิการ การดูแลมารดาประชารัฐสำหรับบุตรแรกเกิด 200-300 บาทต่อราย ในช่วง 5 เดือนหลังของปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2562 เพื่อให้มีกำลังซื้อช่วงปลายปี
3.มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภค เพื่อส่งเสริมคนมีรายได้ระดับปานกลางกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” กำหนดให้ใช้เงินนอกถิ่นที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน เพื่อกระจายสู่ท้องถิ่นทุกพื้นที่อื่น สำหรับการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการส่งเงินผ่านกระเป๋า E-money กำหนดให้ผู้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารกรุงไทย วงเงิน 1,000 บาท เมื่อนำเงินออกไปท่องเที่ยวทั่วประเทศเพิ่มเติม จากนั้นจะคืนเงินผ่านแอพฯ ให้อีกร้อยละ 15 ของเงินใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่เกิน 30,000 บาท กำหนดกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน รวมทั้งเสนอยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน อินเดียเพิ่มเติม เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และเตรียมเสนอขยายเวลามาตรการวีซ่า VOA เพิ่มเติม
มีมาตรการภาษีส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เปิดให้นำค่าใช้จ่ายเพื่อจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายระยะเวลา 5 ปี เน้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย หรือเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก หวังให้เข้าถึงแหล่งทุน จึงมอบหมายให้ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อวงเงินรวมกัน 100,000 ล้านบาท เงื่อนไขผ่อนปรน ระยะเวลา 7 ปี โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อ ยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก และรัฐบาลยังพร้อมชดเชยปัญหาหนี้ NPL หากได้รับความเสียหายจากหนี้เสีย เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
มอบหมายให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อบ้าน วงเงิน 25,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อ วงเงิน 27,000 ล้านบาท เพื่อให้คนระดับกลางมีที่อยู่อาศัยเงื่อนไขผ่อนปรน ตลอดจนการมอบหมายให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.
พักหนี้กองทุนหมู่บ้านที่มียอดหนี้คงค้างรวม 67,000 ล้านบาท
การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้มีการใช้เงินผ่านสถาบันการเงินของรัฐประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท เงินกองทุนบัตรสวัสดิการ และเงินงบกลางไม่เกินร้อยละ 50 ในช่วงรัฐบาลจะใช้เงินชดเชยภายหลังในปีต่อไป
รวมเงินทั้งหมดรัฐบาลอัดฉีดเงินออกสู่ระบบผ่านหลายช่องทาง 316,000 ล้านบาท
หวังจีดีพีปี 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 เพื่อรับมือผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเมินว่ามาตรการครั้งนี้ ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากกว่าที่อัดฉีดออกไป ยืนยันหารือกับสำนักงบประมาณแล้วไม่ผิดวินัยการใช้เงินทางการคลัง เตรียมมาตรการทั้งหมดเสนอ ครม.ชุดใหญ่พิจาณา
matemnews.com
16 สิงหาคม 2562