เฟชบุ้ค ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ความลับของ “กัญชา” กับผลกระทบต่อ “ฮอร์โมนเพศชาย” และ “ต่อมลูกหมาก”
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
วารสารทางด้านเวชศาสตร์เพศสัมพันธ์ที่มีชื่อว่า The Journal of Sexual Medicine เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ได้รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยมิสซิปซิปปี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา สำรวจประชากรผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 1,790 คน อายุระหว่าง 20 -85 ปี อายุเฉลี่ย 45.5 ปี ปรากฏว่ามีคนที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศจำนวน 557 คน มีการติดตามผลต่อเนื่อง 93 เดือน โดยในช่วงระหว่างงานวิจัยสำรวจนี้ พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 244 คน โดยภายหลังจากที่มีการปรับค่าตัวแปรแล้ว พบว่าผู้ชายที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซนต์ [1]
งานวิจัยข้างต้นยังสอดคล้องกับมรณญาณสูตรที่อยู่ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ของการแพทย์แผนไทยนั้น ได้ระบุสภาวะการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศคือสัญญาณอย่างหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต ดังคำกล่าวในมรณญาณสูตรที่ระบุเอาไว้ว่า “สำคัญวันแลเวลา ผู้ใดจะมรณานิมิตรแจ้งประจักษ์ใจ” โดยปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า
“อนึ่งลึงค์บุรุษใด ให้แรงราคบเหือดหาย เจ็ดเดือนไม่เคลื่อนคลาย จะวายชีพชีวา อนึ่งลึงค์บุรุษใด อนึ่งกายไม่ราคะตัณหา ผู้นั้นจะมรณา กำหนดในสิบเจ็ดปี” [2]
รายงานจากวารสารงานวิจัยที่ชื่อ F1000 Research ได้มีการเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2562 พบว่า การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของเพศชายนั้นสอดคล้องกับระดับของฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ “เทสโทสเตอโรน” (Testosterone) ลดต่ำลง ส่วนปัจจัยในเรื่องการบำบัดโดยทั่วไปคือการลดความเสี่ยงเรื่องหลอดเลือดหัวใจ และการบำบัดด้วยการให้ฮอร์โมนบำบัด อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการบำบัดขึ้นอยู่กับ “ความอ้วน” และ “อายุ” ของผู้ป่วยด้วย [3]
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “สมรรถภาพทางเพศ” กับ “ขนาดของต่อมลูกหมาก” ที่อาจมีความสัมพันธ์บางประการต่อกัน
โดยจากวารสารบุรุษเวชศาสตร์เอเชียชื่อ Asian Journal of Andrology เมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้รายงานผลงานวิจัยพบว่า “โรคอ้วน” เพิ่มความเสี่ยงต่อมลูกหมากโต 34 เปอร์เซนต์ “โรคเบาหวานชนิดที่ 2” เพิ่มความเสี่ยงต่อมลูกหมากโต 48.9 เปอร์เซนต์ การเพิ่มขึ้นของ “แอลดีแอล(LDL)”ที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าไขมันตัวเลวสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรเพิ่มความเสี่ยงต่อมลูกหมาก 35.4 เปอร์เซนต์ นอกจากนั้นทุกๆ ความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้น 1 มิลลิเมตรปรอท ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน ภาวะต่อมลูกหมากโต ก็ยังมีความสัมพันธ์เพิ่มความเสี่ยงภาวะเสื่อมสมรรถทางเพศจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดง รวมถึงภาวะต่อมลูกหมากโดยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในเพศชายในเรื่องภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด การหลั่งอสุจิเมื่อมีกิจกรรมทางเพศเร็วเกินไปด้วย [4]
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายมีภาวะเสื่อมสมรรถทางเพศ เช่น ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทที่มีต่อสมรรถภาพทางเพศ ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาบำบัดอาการซึมเศร้า ยาระงับประสาท รวมถึงการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ตับ ปอด ไต โรคมะเร็ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัญหาความอ่อนล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการอักเสบของหลอดเลือด หลอดเลือดตีบ หรือหลอดเลือดแข็งตัว และปัญหาฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่าเทสโทสเตอโรนลดลง
ปัจจัยหนึ่งระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเพศชายดังที่ปรากฏตามงานวิจัยข้างต้นก็คือ “สุขภาพของหลอดเลือด” หากระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี ก็อาจจะส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศด้วย โดยหลักฐานจากวารสารทางด้านบุรุษเวชศาสตร์เอเซียชื่อว่า Asian Journal of Andrology เมื่อปี พ.ศ. 2551 พบว่า ทั้งชายที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจหรือไม่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจหากไลโปโปรตีนหนาแน่นสูง หรือ เอชดีแอล (HDL) หรือที่มักเรียกขานกันว่าเป็นไขมันตัวดีสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณของคุณภาพหลอดเลือดที่ดีขึ้น มีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงขึ้นด้วย [5]
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่หลายคนวิตกกังวลมากว่า “ความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ” กับ “ต่อมลูกหมากโต” ก็คือ “โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก” !!!
มีเรื่องที่น่าสนใจในประเด็นนี้ก็คือ “ความถี่ในการหลั่งอสุจิ” ก็อาจจะช่วย “ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก” โดยงานวิจัยจากวารสารของยุโรปที่เกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะชื่อ European Urology เมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยดูความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากจำนวน 3,839 คน โดยพบว่ากลุ่มประชากรชายที่มีอายุระหว่าง 20-29 ปี ซึ่งมีความถี่ในการหลั่งอสุจิมากกว่า 21 ครั้งต่อเดือน มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่ากลุ่มที่หลั่งอสุจิ 4-7 ครั้งต่อเดือนประมาณ 19 เปอร์เซนต์ และสำหรับประชากรชายซึ่งมีอายุระหว่าง 40-49 ปีจะมีผลในการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 22 เปอร์เซนต์ [6]
แต่งานวิจัยข้างต้นก็ยังมีข้อสังเกตุ ซึ่งทำให้เกิดคำถามชวนคิดต่อมาว่าการลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากตามงานวิจัยข้างต้นนั้น แท้ที่จริงแล้วเกิดจากการหลั่งอสุจิถึง 21 ครั้งต่อเดือน หรือความจริงแล้วเป็นผลจากการออกกำลังกายผ่านการมีกิจกรรมทางเพศถึง 21 ครั้งต่อเดือนแล้วมีผลทำให้หลอดเลือดดีขึ้นกันแน่?
และหากเกิดจากผลของการหลั่งอสุจิจริงๆ ก็จะทำให้เกิดคำถามตามต่อมาว่าผู้ที่เป็นพระสงฆ์ นักบวชซึ่งต้องถือศีลและไม่มีเพศสัมพันธ์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นต่อมลูกหมากโต หรือ มะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่?
เรื่องดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในตำราของการแพทย์แผนไทยที่มีชื่อว่า แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รวบรวม พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ซึ่งเป็นตำราที่ว่าด้วยอาการและยาสมุนไพรของโรคบุรุษและโรคสตรีโดยเฉพาะ ซึ่งได้กล่าวถึงผู้ที่มีลักษณะผู้ถือศีลไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เอาไว้ว่า
“ประการหนึ่ง คือ บุรุษบริสุทธิมิได้มักมากด้วยกิเลศ คือ พระภิกษุแลฆราวาศเป็นพหูสูตรก็ดี โรคอันนี้เกิดแก่บุทคลจำพวกใดจำพวกหนึ่งก็ดี เกิดเพราะกาฬมูตร (โรคที่เกิดจากขัดปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก จึงเน่าเสียอยู่ภายใน) อนึ่งโรคอันเกิดด้วยไกษยกล่อน เกิดอยู่ในลำสายสะดือมักขัดลงมาถึงหัวเหน่า เดิมทีให้ขัดทางปัสสาวะ คือกล่อนลงฝักมักไม่ลงมาทางฝัก ลงมาทางองคชาตให้องคชาตปวดแสบ ให้ปัสสาวะไหลหยดๆออกมา ครั้นกินยาหายไปแล้วก็กลับเปนมาเล่า เปนหลายครั้งหลายหนก็เปนต่างๆ ถ้าผู้ใดเปนดังนี้ท่านเรียกว่าโรคสำหรับบุรุษ…” [7]
แม้ว่าในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จะไม่ได้ระบุในเรื่องตำรับยาแก้ “กาฬมูตร”สำหรับบุรุษบริสุทธิ์เอาไว้โดยเฉพาะ แต่ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) สมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการจารึกลงในแผ่นศิลาประดับไว้ ณ เสา ศาลาวิมังสา ว่าด้วยเรื่องอุปทมคำรบ 3 ถึงตำรับยาแก้เอาไว้ว่า
“ถ้าจะแก้เอา ขมิ้นอ้อย ไพล สิ่งละ ๖ ส่วน ยาข้าวเย็น ๑๐ ส่วน รากหญ้านาง ๒๐ ส่วน ต้มตามวิธีให้กินแก้โรคสำหรับบุรุษอันบังเกิดแก่บุคคลอันบริสุทธิ์ และชำระบุพโพปัสสาวะแก้ปวดถ่วงดึงในหน้าเหน่านั้นหายดีนัก ฯ
ขนานหนึ่ง เอารากขนุนสำมะสอ เทียนดำ เทียนขาว สิ่งละส่วน ตรีกฏุก สิ่งละ ๒ ส่วน กระดูกงูเหลือม ๔ ส่วน เขม่าเหล็ก ๘ ส่วน ยาข้าวเย็นใต้ ขันทองพยาบาท รากพุงดอ หนอนตายอยาก รากพุงแก แก่นขี้เหล็ก มาศเหลือง โรกทั้งสอง รากก้างปลาทั้งสอง สิ่งละ ๑๐ ส่วน ต้มตามวิธีให้กินแก้โรคสำหรับบุรุษบังเกิดแก่บุคคลอันบริสุทธิ์นั้น เป็นยาตัดรากมิให้กลายไปได้นั้นดีนัก ฯ
ขนานหนึ่ง เอา ไพล ขมิ้นอ้อย พันธุ์ผักกาด มะกรูด ส้มซ่า แป้งหล้า บดห่อผ้าประคบหน้าเหน่าแก้ขัดปัสสาวะนั้นหายดีวิเศษนัก ฯ” [8]
แต่วิธีที่อาจจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากของคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มบุรุษผู้บริสุทธิ์ หรือบุรุษที่ไม่มีกิจกรรมทางเพศเพราะอายุมากแล้ว ก็คือ “กินอาหารที่เป็นมังสวิรัติ” โดยการกินอาหารที่เป็นพืชเป็นหลัก โดยเฉพาะผักสด จะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะมีประสิทธิภาพกว่าเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงด้วย โดยวารสารการป้องกันมะเร็งแห่งเอเชียแปซิฟิก Asian Pacific Journal of Cancer Prevention ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 พบว่าการกินอาหารที่มาจากพืชเป็นหลักจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากไปได้ถึง 88 เปอร์เซนต์ ในขณะที่กลุ่มที่กินผัก(ไฟเบอร์สูง)จะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากไปได้ถึง 97 เปอร์เซนต์ และหากกินผักสดจะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากได้ถึง 99 เปอร์เซนต์ [9]
มาถึงจุดนี้แล้วก็จะมีคำถามถึงสมุนไพรอีกหนึ่งตัวที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ “กัญชา”จะมีผลกระทบอย่างไรกับฮอร์โมนเพศชาย และสมรรถภาพทางเพศ
ฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ “เทสโทสเตอโรน” เป็นฮอร์โมนที่พบในกลุ่มผู้นำเพศชาย นักกีฬา มีกล้ามเนื้อ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความกล้าหาญ และคนที่มีฮอร์โมนชนิดนี้มากก็มีโอกาสที่จะชอบกีฬาผาดโผน มีความห้าวหาญ มีอารมณ์ทางเพศสูง มีความเจ้าชู้ ฯลฯ กล่าวคือมีความธาตุไฟเตโชธาตุสูง
ในขณะที่ “กัญชา” ได้ถูกอธิบายสรรพคุณเภสัชเป็นการเฉพาะเป็นครั้งแรก ปรากฏอยู่ในตำราเวชศาสตร์ ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 ว่า
“กันชา แก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่นเสียงสั่นเปนด้วยวาโยธาตุกำเริบแก้นอนมิหลับ”[10]
แสดงให้เห็นว่า “กัญชาเป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์เมาและเย็น” จึงมีผลทำให้ “ลดระบบความร้อน”หรือไข้ ซึ่งอาจรวมถึงช่วยลดการอักเสบ และช่วยลด “วาโยธาตุกำเริบ”ให้น้อยลง ความหมายก็คือ “ลดระบบการเคลื่อนไหวในร่างกายที่มากเกินปกติ” ซึ่งอาจครอบคลุมถึงความผิดปกติของสารสื่อประสาทและสมองที่ทำให้เกิดอาการสั่นหรือการเคลื่อนไหวผิดปกติ ความเครียดหรือความคิดไม่หยุด การเคลื่อนตัวด้วยความดันของโลหิตมากผิดปกติ อีกทั้งยังระบุสรรพคุณรวมถึงการทำให้นอนหลับด้วย
นอกจากนั้นยังปรากฏในหนังสือแพทย์ตำบล เล่ม 1 ของพระยาแพทย์พงศา วิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) เมื่อปี พ.ศ. 2469 ว่า :
“กัญชา ทำให้เมา ทำให้ใจขลาด รับประทานน้อยๆ เป็นยาชูกำลัง เจริญอาหาร ต้นกัญชาที่มีดอกเป็นช่อ ใช้ช่อที่มีดอกและผลทำยา ต้นสูงถึง 3 ถึง 10 ฟุต” [11]
เช่นเดียวกับตำราประมวลหลักเภสัช โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ระบุว่า :
“ดอกกัญชา ทำให้ง่วงนอนและอยากอาหาร, กัญชา รสเมาเบื่อเหม็นเขียว เจริญอาหาร ชูกำลัง แต่ทำให้ใจขลาด, เมล็ดกัญชา รสเมามึน เจริญอาหาร กินมากหวาดกลัว หมดสติ” [12]
นอกจากนั้นแล้ว สรรพคุณกัญชาตามตำราไทยในแต่ละส่วนของกัญชาก็ออกฤทธิ์ไม่เหมือนกันด้วย กล่าวคือ “ใบ” ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย เจริญอาหาร กระตุ้นประสาท ทำให้นอนหลับ “เมล็ด” ชูกำลัง เจริญอาหาร ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ “ช่อดอกตัวเมีย”บำรุงประสาท แก้ปวดประสาท ทำให้เคลิ้มฝัน มีฤทธิ์เป็นยาระงับปวด แต่ถ้าบริโภคมากจะทำให้คอแห้ง มึนเมา หลอกหลอนประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หวาดกลัว หมดสติ
กัญชาทำให้ความดันโลหิตต่ำลง น้ำตาลตก จึงน่าจะช่วลดการอักเสบของหลอดเลือด ทำให้บางคนคนเชื่อว่าการลดการอักเสบของหลอดเลือดก็น่าจะช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนให้ดีขึ้นก็น่าจะนำไปสู่การเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงขึ้น สมรรถภาพทางเพศก็น่าจะดีขึ้นได้
แต่ในทางตรงกันข้ามสรรพคุณกัญชาหากบริโภคมากกลับออกฤทธิ์ในสรรพคุณที่ตรงกันข้ามกับลักษณะของคนที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง คือ ง่วงนอน ขาดกลัว และทำให้กินอาหารมาก (ซึ่งอาจทำให้อ้วนด้วย)
วารสารทางเดินปัสสาวะ The Journal of Urology ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้เผยแพร่หลักฐานถึงผลกระทบต่อกัญชาที่มีต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย พบว่าบทบาทของกัญชาลดจำนวนความหนาแน่นของอสุจิให้น้อย พยาธิสภาพของอสุจิผิดปกติ ลดความสามารถในการเคลื่อนไหวและการมีชีวิตรอดของอสุจิ จึงย่อมส่งผลทำให้เกิดการปฏิสนธิได้ยากขึ้น [13]
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “วาโยธาตุลดลง” แม้ในระดับการผลิตทั้งคุณภาพและปริมาณตลอดจนการเคลื่อนตัวของอสุจิก็ลดน้อยลงด้วย
แต่ประเด็นในเรื่องนี้จึงน่าจะอยู่ที่ว่าใช้กัญชาในปริมาณเท่าไหร่และในระยะเวลานานเท่าใดด้วย เพราะถ้ากัญชาเพื่อแก้ปัญหาความร้อนเกิน ลดการอักเสบ เพื่อลดวาโยธาตุกำเริบก็ย่อมมีผลดีเพื่อให้ “วาโยธาตุเป็นปกติ” แต่ถ้าหากใช้มากต่อเนื่องยาวนานจนเกินพอดี จาก “วาโยธาตุกำเริบ”ก็อาจจะกลายเป็น “วาโยธาตุหย่อน” ก็ได้ด้วยเช่นกัน จากที่เคยมีภาวะที่ร้อนเกินก็จะกลายมาเป็นเย็นเกินได้ด้วย
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือวาสารทางด้านบุรุษเวชศาสตร์ Andrology เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ได้รายงานพบว่า กลุ่มคนที่เคยใช้กัญชาแล้วมาเลิกการใช้กัญชา ยิ่งเวลาผ่านไปหลายปียิ่งมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำลง และเห็นได้ชัดในกลุ่มอายุระหว่าง 18-29 ปี และพบว่ากลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปที่ใช้กัญชาบ้างแต่ใช้น้อยและไม่ใช้ประจำต่อเนื่องคือประมาณ 1-3 ครั้งต่อเดือนคือกลุ่มที่มีเทสโทสเตอโรนที่อยู่ในระดับสูง [14]
ดังนั้น แม้กัญชาจะมีสรรพคุณหลายอย่างที่เป็นประโยชน์แต่ลำพังกัญชาเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากสาเหตุทุกโรคได้ และก็ยังมีผลเสียหากใช้อย่างไม่เหมาะสมด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้หลายศาสตร์เข้ามาบูรณาการกัน โดยเฉพาะอย่างย่ิงในเรื่อง “อาหาร”, “สมุนไพร”, การนวดกดจุด, การบริหารระบบภูมิคุ้มกัน, การปรับวิถีชีวิตทั้งกายและจิต ฯลฯ
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเตรียมเปิดหลักสูตร “วิถีชีวาเวชศาสตร์ รุ่นที่ 4” ควบคู่ไปกับหลักสูตร “การประกอบอาหารเพื่อสุขภาพและชะลอวัยระดับยีน รุ่นที่ 3” โดยสำหรับหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์รุ่นที่ 4 นี้ ได้มีการปรับหลักสูตรโดยเพิ่มวิชาพิเศษตามความต้องการของประชาชนคือวิชาว่าด้วย “กัญชาพื้นฐานสำหรับคนในครอบครัว” และเมื่อจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงขอเชิญท่านผู้อ่านที่สนใจรีบจองสมัคร 2 หลักสูตรนี้ก่อนเต็มที่หมายเลขโทรศัพท์ 061-950-6666
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
matemnews.com
17 สิงหาคม 2562