วันที่ 17สิงหาคม 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดแถลงข่าวสรุปสาเหตุการตายของมาเรียม โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ในโอกาสนี้ นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายพลัง ยิ้มพาณิชย์ รองประธานกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน และรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวง ทส. ทีมสัตวแพทย์ ผู้นำท้องถิ่น และอาสาสมัครจากเกาะลิบง ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ
สำหรับสาเหตุการตาย สภาพภายนอกพบรอยขูดขีด ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ แพนหาง บริเวณตำแหน่งใกล้เคียงกันพบจ้ำเลือด ขนาด 2-3 เซนติเมตร ซึ่งสอดคล้องกับผลเลือด ที่พบสภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เกิดจุดเลือดออกได้ง่าย ภายในช่องปาก พบแผลในปากจำนวนหนึ่ง ส่วนของอวัยวะภายในพบว่ากล้ามเนื้อมีสีซีดกว่าปกติมาก เนื่องจากมาเรียมมีการใช้พลังงานต่อวันเท่าเดิมในทุกวัน แต่ไม่สามารถรับอาหารได้ จึงมีการย่อยสลายส่วนของกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน
รวมทั้งภาวะทุพโภชนาการ ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง โปรตีนในเลือดต่ำ และการติดเชื้อในช่องอกและทางเดินหายใจ ปอดมีสีซีดและเกิดการโป่งพอง เกิดก้อนหนองแทรกตามเนื้อปอด โดยเฉพาะปอดข้างซ้าย พบรอยช้ำของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้องและผนังช่องท้องด้านใน คาดว่าเกิดจากการกระแทกของพะยูนตัวผู้ ตับมีสีเหลืองเนื่องจากการไม่รับอาหารมาเป็นเวลานาน มีจุดเนื้อตายและหนองบนตับ หัวใจพบเลือดเล็กน้อย และบีบตัวแข็งจากการเกิดสภาวะช็อค และส่วนของระบบทางเดินอาหารและมีการสะสมของแก๊สจำนวนมากตามทางเดินอาหาร ซึ่งคาดว่ามาจากการที่กระเพาะอาหารมีการเคลื่อนตัวและบีบตัวลดลง
ตลอดลำไส้เล็กอักเสบพบจุดเนื้อตายสีขาว และพบมีการหนาตัวและมีเนื้อตายเคลือบด้านในของผนังลำไส้และพบขยะประเภทเศษถุงพลาสติกจำนวน 8 ชิ้น อัดแน่นกันอยู่ในลำไส้เล็กส่วนปลายต่อลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากมาเรียมมีสภาวะขาดน้ำที่รุนแรง ทำให้ส่งผลต่อการบีบตัวของทางเดินอาหารลดลงหรือไม่เคลื่อนที่ ทำให้เกิดการสะสมของแก็สในทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก ทำให้เกิดสภาวะช็อค เนื่องจากความเจ็บปวด และเสียชีวิตลงทันที นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนองตามมา
ทั้งนี้ กระทรวง ทส. จะเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการลดปริมาณขยะทะเล และจะจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนของประเทศไทย รวมทั้งถอดบทเรียนเพื่อให้เป็น “มาเรียมโปรเจค” ใช้เป็นประโยชน์ในการดูแลพะยูน เพื่อนำไปเป็นแนวทางสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมพะยูนโลกที่จะจัดในปีหน้าต่อไป
ที่มา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง