นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
ปรากฏตัวที่สำนักงาน ปปช.เมื่อตอนเช้า 21 ส.ค.2562 ยื่นหนังสือให้ดำเนินการกรณี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.หลักสี่ กรุงเทพฯ พรรค พปชร.
“ตามที่มีสส.พรรคพลังประชารัฐปะทะคารมกันกับรองผู้กำกับฯ สภ.กระรน จ.ภูเก็ต ตามคลิปดังที่แชร์กันสนั่นในโซเชียลมีเดียอย่ามากมายเมื่อวันที่ 18 ส.ค.62 ที่ผ่านมานั้น
เนื้อหาในคลิป ท่านรองผู้กำกับฯตอบข้อกฏหมายได้ถูกต้องแล้ว กรณีการก่อสร้างอาคารที่ไม่ถูกต้อง เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ถ้าไม่รื้อถอนก็มีมาตราการบังคับอยู่แล้วคือ ต้องไปจ่ายค่าปรับต่อศาลเป็นรายวัน หรือ นายกเทศมนตรีฯ จะนำกำลังไปรื้อถอน โดยเจ้าของอาคารต้องจ่ายค่ารื้อถอนแบบเดียวกับที่ทำที่รีสอร์ทภูทับเบิก หรือหลายๆที่เมื่อรองผู้กำกับตอบไปคงสร้างความไม่พอใจให้กับ สส.ด้วยคงเสียหน้า ที่พูดกฏหมายผิดจะให้ไปตำรวจไปจับอ้างเป็นความผิดซึ่งหน้า เมื่อเสียหน้าจึงหาว่าตำรวจไม่มาดูแลอารักขารักษาความปลอดภัยท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ
ทั้งนี้อำนาจหน้าที่ตำรวจตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ม.6(1) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ตำรวจมีอำนาจหน้าที่ คือ รักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะเท่านั้น ไม่มีข้อความไหนที่บัญญัติให้มาทำหน้าที่อารักขา สส. ผู้ใดด้วยได้
แต่หาก สส. คิดว่าการไปทำงานแล้วไม่ปลอดภัย ถูกขู่ฆ่าหรือเป็นพยานในคดีอาญา ก็สามารถขอความคุ้มครองได้ตามระเบียบ สตช.ว่าด้วยการกำหนดแนวทางปฏิบัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2548 แต่ถ้าไม่เป็นและคิดว่าไม่ปลอดภัย ต้องการตำรวจอารักขาก็ยังสามารถยื่นคำร้องต่อผู้บัญชาการภาคต่างๆ หรือสันติบาล ขอกำลังตำรวจอารักขาได้ ผบช.จะพิจารณาเหตุผลส่งตำรวจชั้นประทวนไปอารักขาไม่เกิน 2 คน ตามคำสั่ง สตช.ที่ 38 /2548 เรื่อง การให้ความคุ้มครองบุคคล
อย่าอ้างว่า สส.มาทำเพื่อชาติ คนอื่นเขาก็ทำเพื่อชาติเช่นกัน ชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า นักธุรกิจ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากมายเขาทำเพื่อชาติเช่นกัน เขาไม่เห็นเรียกร้องให้ตำรวจตั้งขบวนดูแลตอนไปทำภารกิจของเขาเลย เพราะหากตามใจ สส. มากเกินไปตำรวจก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ ตาม ม.79(1) ชอง พรบ.ตำรวจ 2547 ได้
แต่การแสดงออกและหรือการกระทำของ สส.ดังกล่าวที่เรียกร้องให้ตำรวจต้องมาดูแลอารักขารักษาความปลอดภัยนั้น ถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเป็นอย่างมาก และส่อที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.185 และอาจเข้าข่ายการรับประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และอาจเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้อห้ามในมาตรฐานทางจริยธรรมโดยชัดแจ้งได้
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนและมีความเห็นในเรื่องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ป.ป.ช.ต่อไปในวันพุธที่ 21 ส.ค.62 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ปากเกร็ด นนทบุรี นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด”
matemnews.com
21 สิงหาคม 2562