Home ข่าวทั่วไปรอบวัน การประชุมครม.เศรษฐกิจครั้งที่ 2

การประชุมครม.เศรษฐกิจครั้งที่ 2

796
0
SHARE

 

 

เว็บไซต์รัฐบาลไทย เผยแพร่

ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบแพคเกจ Thailand Plus กระตุ้นและเร่งรัดการลงทุน 7 ด้าน

นายกรัฐมนตรีประชุม ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบแพคเกจ Thailand Plus กระตุ้นและเร่งรัดการลงทุน 7 ด้าน ทั้งมาตรการภาษี การพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุน เร่งรัดให้ได้ข้อสรุปเรื่องการเจรจาเอฟทีเอ พร้อมทำตลาดเชิงรุก

 

วันนี้ (6 ก.ย.62) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 2/2562 โดยภายหลังการประชุม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ และนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจ สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานสรุปว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจตั้งแต่ที่รัฐบาลเข้าทำหน้าที่ในเดือนกรกฎาคม 2562 ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งตัวเลขของการขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงเรื่องการส่งออกและการบริโภคที่ขยับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน พร้อมกันนี้ ที่ประชุมพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนรองรับการย้ายฐานของนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่มีประเด็นสำคัญรวม 3 ประเด็นคือ (1) โอกาสการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศที่เร่งย้ายฐาน สืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า ที่จะนำมาสู่การใช้จ่ายลงทุน การยกระดับเทคโนโลยีสู่ 4.0 (2) อุปสรรคของนักลงทุนที่จะมาลงทุนที่ประเทศไทย (3) ทางออกเชิงนโยบายของประเทศไทย  ที่จะเป็นการปรับกระบวนการดึงดูดการลงทุนของไทยครั้งใหญ่ ที่ครอบคลุมทุกมิติ ไม่จำกัดเฉพาะแรงจูงใจด้านภาษีของ BOI เท่านั้น โดยที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้เห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package 7 ด้าน ดังนี้

 

  1. ด้านสิทธิประโยชน์ ให้บีโอไอกำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563

 

  1. ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการของหน่วยงาน ให้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุน ในลักษณะ One Stop Service โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุน รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สามารถอนุมัติโครงการในกลุ่มกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกขนาดการลงทุนเพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานโดยเร็ว

 

  1. ด้านบุคลากร ให้กำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562 – 2563 รวมทั้งให้มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ ระหว่างปี 2562 – 2563

 

นอกจากนี้ ในกรณีของโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมและยังมีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้อยู่ บีโอไอจะอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นร้อยละ 200 รวมทั้งให้บีโอไอและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันนำเสนอแนวทางและรูปแบบการนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ มาใช้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง

 

  1. ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ยังขอให้บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมที่ดิน เป็นต้น รวมทั้งให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญสูง

 

  1. มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น

 

  1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปผลการศึกษาและกระบวนการต่าง ๆ ให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าไทย – อียู และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ภายในปี 2562 รวมทั้งมอบให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณแก่กระทรวงพาณิชย์ สำหรับกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย

 

  1. ให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2562 – 2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย

 

สำหรับด้านการชักจูงการลงทุนนั้น บีโอไอจะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อจัดทีมบูรณาการโรดโชว์และทำการตลาดเชิงรุก โดยเน้นชักจูงนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เป็นต้น

 

“ประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบาย New Southern Policy ของเกาหลีใต้ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย นอกจากนั้น ยังมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม ACMECS หรือ CLMVT การออกมาตรการ Thailand Plus ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการดึงดูดการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

 

นอกจากนี้ กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่เคยมีการเสนอแพคเกจลักษณะนี้มาก่อน ครั้งนี้เป็นการเสนอแพคเกจครอบคลุมทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เมื่อผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารหน้า ก็จะมีตัวเลขต่าง ๆ ออกมา ซึ่งจะมีตัวเลขต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกตัวจากที่เคยให้ เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต โดยอุตสาหกรรมที่จะเริ่มขับเคลื่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องจักร เรื่องอาหาร กลุ่ม Bio-Chemical Bio-Fuel เป็นต้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการรายงานความคืบหน้าการเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า ทั้ง 7 ด้านต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในสัปดาห์หน้าด้วย

 

——————

 

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก