เฟชบุ้ค อย.
อย. ร่วม บก.ปคบ. จับเยลลี่ผสมกัญชา และรวบแม่ค้าออนไลน์ขายยาชุดลดอ้วน
25 Nov 2019 /
Share LINE Share
อย. ร่วมกับ ตำรวจกองกำกับการ 4 บก.ปคบ. จับกุมขยายผลเยลลี่ผสมกัญชาตามที่เป็นข่าว รุดตรวจค้น 2 จุด ที่จังหวัดเชียงใหม่ พบของกลางลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งเยลลี่ผสมกัญชา น้ำมัน CBD ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ผสมสาร CBD มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ย้ำขณะนี้ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์เท่านั้น และอีกกรณี รวบแม่ค้าออนไลน์ขายยาชุดลดความอ้วน 2 จุด ที่จังหวัดราชบุรี ขยายผลจากคดีเก่าที่เคยจับกุมจากการตรวจพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พร้อมยึดของกลางจำนวนมาก
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำทีมโดย พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.4 บก.ปคบ. และ พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ สว.กก.4 บก.ปคบ., พ.ต.ท.พชร แสนชัยสกุลกิจ สว.กก.4 ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีผลิตภัณฑ์เยลลี่ผสมกัญชาที่กำลังตกเป็นข่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 178/712 หมู่ 7 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พบเยลลี่ผสมกัญชาและบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนหนึ่ง จึงขยายผลไปยังบ้านเลขที่ 399/72 หมู่บ้านปาจารีย์ หมู่ 1 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พบของกลางเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และวัตถุเสพติดผิดกฎหมายจำนวนมาก เช่น
– ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเยลลี่และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมกัญชา เช่น CBDFxTM HEMP GUMMIES JUICY LEMON, CBDFxTM HEMP GUMMIES MIXED BERRY, NanocraftCBDTM 500 mg CBD Superfood รวมกว่า 300 ชิ้น
– วัตถุเสพติดประเภทน้ำมัน CBD เช่น Koi Natural Full Spectrum ขนาด CBD 250–2,000 mg CBDFxTM HEMP SOFT GELS 750 mg hemp-based cannabinoids รวมกว่า 900 ขวด
– ผลิตภัณฑ์ยาประเภทเยลลี่ผสมยาแผนปัจจุบัน CBDFxTM HEMP GUMMIES MELATONIN จำนวน 130 กระปุก แผ่นบรรเทาอาการปวด BetruTM wellness BODY Pain Relief Patch จำนวน 6 ซอง
– ผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ CBDFxTM HEMP OIL FOR PETS และ CBDialedTM PET CARE ANTI-SEPERATION 300 mg จำนวน 27 ขวด
– เครื่องสำอางประเภทมาส์กหน้า เช่น CBDFxTM HEMP CUCUMBER FACE MASK 20 mg, CBDFxTM HEMP ROSE FACE MASK 20 mg จำนวน 86 ซอง ประเภทครีม เช่น CBDFxTM HEMP CREAM, Infused Body Lotion จำนวน 43 ขวด
รวมของกลางทั้งสิ้นกว่า 1,500 ชิ้น มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท จึงได้ยึดของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เบื้องต้นได้แจ้งข้อหานำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนผู้จำหน่ายและผู้ครอบครอง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งผู้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดฐาน เสนอขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ห้ามขายตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 มีโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เน้นย้ำว่า ปัจจุบันในประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนผสมของกัญชา ไม่ว่าจะเป็น ยา อาหารหรือเครื่องสำอาง จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบครอง หรือส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่สามารถซื้อขายผ่านทางออนไลน์ได้ หากพบการนำเข้าไม่ว่าจะนำเข้ามาด้วยตนเอง หรือสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ จะมีโทษดังกล่าวข้างต้น
สำหรับมาตรการในการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา กรณีการสั่งสินค้าผ่านทางออนไลน์ ซึ่งสินค้ามักผ่านเข้ามาที่ไปรษณีย์ สนามบิน หรือการที่ผู้โดยสารนำติดตัวเข้ามาในประเทศ จะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมศุลกากรหรือด่านอาหารและยาก่อน กรณีการจับกุมครั้งนี้พบว่า เป็นการลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้สำแดงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องสอบสวนต่อไปว่านำเข้ามาจากทางใด โดยผลิตภัณฑ์ที่ถูกยึดจะส่งให้กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ตรวจวิเคราะห์หาสาร THC CBD เพื่อยืนยันอีกครั้ง จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าสั่งซื้ออาหารหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาในประเทศไทยโดยเด็ดขาดเพราะถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถอ่านรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่อาจมีส่วนประกอบของกัญชาบนฉลาก เช่น THC, CBD, Cannabis
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อีกกรณีเป็นการขยายผลจับกุมการขายยาชุดลดความอ้วนทางออนไลน์ที่จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 จุด ดังนี้ จุดแรก เข้าตรวจค้นที่บ้านเลขที่ 106 หมู่ 6 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเคยตรวจพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี แต่ผู้กระทำความผิดยังท้าทายกฎหมายลักลอบจำหน่ายยาชุดลดความอ้วน เจ้าหน้าที่จึงได้ขยายผลเข้าจับกุมในครั้งนี้ พบการจำหน่ายยาชุดเป็นจำนวนมาก และพบยาชุดแบบเดียวกับที่เคยจับกุมและตรวจพบไซบูทรามีนอีกด้วย ยาชุดดังกล่าวเป็นการนำยามาบรรจุซองจำนวน 2 ชุด ๆ ละ 2 ซอง แต่ละชุดประกอบด้วยแผนปัจจุบันหลายชนิด นอกจากนี้พบกล่องพัสดุภายในบรรจุซองพลาสติกบรรจุยาแคปซูลสีเขียว-ชมพู พร้อมส่ง จำนวน 986 แคปซูล และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเบื้องต้น
พบการแสดงฉลากไม่ถูกต้องและมีการโฆษณาลดอ้วน 10 วัน ลงแน่ 5 กิโล และต้องสงสัยว่าจะปลอมปนยาแผนปัจจุบัน กว่า 4,800 กล่อง เจ้าหน้าที่จึงยึดเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
จุดที่ 2 สืบเนื่องจากการจับกุมที่จังหวัดระยองซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ได้สืบทราบว่า มีการจำหน่ายยาชุดลดความอ้วนที่จังหวัดราชบุรี จึงได้ขยายผลเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 127 หมู่ 5 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พบยาชุดลดความอ้วนและพบยาแผนปัจจุบันหลายรายการ ซองซิปพลาสติกสำหรับบรรจุยา และกล่องบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Slim plus ไม่มีเลขสารบบอาหาร ไม่ระบุสถานที่ผลิต จำนวน 900 กล่อง รวมทั้งกล่องพัสดุและซองพัสดุมีการจ่าหน้าซองพร้อมส่งทางไปรษณีย์ โดยผู้กระทำความผิดให้ข้อมูลว่า จะมีการนำยาชุดลดความอ้วนใส่ในกล่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Slim plus เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยึดของกลาง ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
โดยทั้ง 2 จุด เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา
- ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 12)
- ขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ขายยาชุด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้หากตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท–2,000,000 บาท หากเป็นผู้ขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท–2,000,000 บาท รวมถึงการครอบครองหรือบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิด มีโทษจำคุกหรือปรับด้วย
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเตือนผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีและพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ หากลักลอบจำหน่ายยาชุดลดความอ้วน อย. และ บก.ปคบ จะดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายขั้นเด็ดขาด หากตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 จะมีบทลงโทษสูงมาก และขอเตือนผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก อย่าได้คิดที่จะซื้อยาลดความอ้วนหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณลดความอ้วนมากินเด็ดขาด ขอให้ระลึกเสมอว่า ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอวดสรรพคุณในการลดความอ้วนเหล่านี้ที่ขายผ่านทางสื่อออนไลน์ ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบจะเป็นยาปลอมหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ได้ผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ และไม่มีผลวิจัยรับรองสรรพคุณจากการใช้ยาตามหลักการแพทย์ที่ถูกต้อง ผู้ที่ได้รับยาปลอมดังกล่าวเสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิต หากบริโภคเกินขนาดหรือมีโรคประจำตัวแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับไซบูทรามีนจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิต หลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งผลข้างเคียงจะพบตั้งแต่ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ตามที่มีข่าวจากผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนอยู่เป็นระยะ ๆ ดังนั้น ก่อนใช้ยาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง พร้อมทั้งขอปรามผู้ขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ หรือร้านขายยาต่าง ๆ อย่าได้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพราะอาจเกิดผลร้ายต่อผู้บริโภค หาก อย. ตรวจพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง คือ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคด้วย การใช้ยาลดน้ำหนักอย่างไม่ถูกต้องจะไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วนได้ เพราะหากใช้ติดต่อกันระยะหนึ่ง น้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก (yo-yo effect) และเสี่ยงจากผลข้างเคียงของยา หากผู้บริโภคพบการขายยาลดน้ำหนักผ่านทางสื่อต่าง ๆ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมมือกับ อย.ในการเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ
matemnews.com
25 พฤศจิกายน 2562