Home ข่าวทั่วไปรอบวัน นางงาม : คำตอบนอกเวทีมิสยูนิเวิร์ส “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความมั่นคง” อะไรสำคัญกว่ากัน

นางงาม : คำตอบนอกเวทีมิสยูนิเวิร์ส “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความมั่นคง” อะไรสำคัญกว่ากัน

475
0
SHARE

 

 

 

BBC Thai

https://bbc.in/2LzawN9

บีบีซีไทยชวนพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ตอบคำถามที่สตีฟ ฮาร์วีย์ พิธีกรบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2019 ถาม ” ฟ้าใส-ปวีณสุดา ดรูอิ้น” นางงามจากประเทศไทยในรอบ 5 คนสุดท้าย

 

คำถามนั้นมีอยู่ว่า รัฐบาลในหลายประเทศต่างก็มีนโยบายในการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน แต่บางคนเห็นว่านโยบายเหล่านั้นเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว สำหรับคุณสิ่งใดมีความสำคัญมากกว่ากันระหว่าง “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความมั่นคง”

 

ปวีณสุดาตอบคำถามนี้ว่า “ฉันเชื่อว่ารัฐบาลแต่ละประเทศมีนโยบายของตัวเองที่จะทำให้ประชาชนปลอดภัย และฉันคิดว่ารัฐบาลไม่ควรจะก้าวล่วงสิทธิความเป็นส่วนตัว เพราะว่าเรามีสิทธิที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัว แต่ความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเพื่อให้สังคมของเราดีขึ้นกว่าเดิม รัฐบาลควรจะหาจุดสมดุลในการเข้ามาดูแลความปลอดภัย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้ในสังคม”

 

คำตอบของเธอมีทั้งที่ได้รับคำชมและคำวิจารณ์ ทั้งจากผู้ติดตามการประกวดนางงามและผู้ที่สนใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพ บางคนเชื่อว่าคำถามนี้เจาะจงมาที่ประเทศไทยด้วยซ้ำ ขณะที่หลายคนทดลองตอบคำถามนอกเวทีและแบ่งปันความเห็นในโลกออนไลน์

 

นายพุทธิพงษ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ยอมรับว่าคำถามที่นางงามจากประเทศไทยต้องตอบ นั้น “ยาก” ขณะที่ประจักษ์บอกว่าคำถามนี้ “เชย” ไปแล้ว ส่วนพรรณิการ์ ซึ่งกำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมการแถลงข่าวของพรรคในช่วงบ่ายวันนี้จึงไม่มีเวลาได้ชมการถ่ายทอดสดการประกวด ตอบคำถามนี้ได้แบบไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน

 

ต่อไปนี้เป็นคำตอบจากทั้ง 3 คนว่า “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความมั่นคง” อะไรสำคัญกว่ากัน

 

พรรณิการ์ วานิช : “ความมั่นคงในชีวิตของประชาชนย่อมสำคัญที่สุด”

 

เรื่องนี้ไม่ต้องคิดอะไรมากเลยนะคะ ความมั่นคงในชีวิตของประชาชนย่อมสำคัญที่สุดและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับความมั่นคงของชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง และรัฐมีหน้าที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นไม่ให้ถูกละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกละเมิดจากรัฐเอง หากรัฐล้มเหลวในเรื่องนี้ ย่อมหมายความว่าล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองประชาชน การละเมิดสิทธิของประชาชนโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ ก็ต้องถามว่าแล้วตกลง “รัฐ” คืออะไร รัฐคืออำนาจหรือรัฐบาลหรือเปล่า แต่ที่จริงแล้วรัฐหรือชาติคือประชาชน

 

ถ้าถามว่านโยบายของรัฐบาลไทยขณะนี้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลขนาดไหนก็เห็นได้จาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการฟ้อง “คดีปิดปาก” ที่ตอนนี้มีการใช้อยู่มากมายทั้งโดยรัฐบาล กองทัพและนักการเมือง ตอนนี้เห็นชัดว่า ผู้มีอำนาจในประเทศนี้กำลังสร้างคอนเซ็ปต์กลวง ๆ ของคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” ขึ้นมา โดยคำว่า “รัฐ” นั้น หมายถึงผู้มีอำนาจ ไม่ได้หมายถึงประชาชน

 

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ : “มันมีเส้นบาง ๆ”

 

ตอนนี้มันมีเส้นบาง ๆ ที่แบ่งระหว่างสิทธิส่วนบุคคลกับความมั่นคง เนื่องจากโซเชียลมีเดียและอะไรที่เป็นออนไลน์ทั้งหลายมันเข้ามาเร็วโดยที่ไม่มีอะไรกรองเลย

 

 

ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายฉบับไหนที่ออกระเบียบออกมาแล้วไปจำกัดสิทธิของประชาชน มันจะครอบคลุมเฉพาะเรื่องของความมั่นคงเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าอันไหนสำคัญกว่ากัน ผมคิดว่าเรื่องความมั่นคงก็ทำไประดับหนึ่งที่ทำให้เกิดความปลอดภัยในข้อมูลของประชาชน กฎหมายที่ใช้ในเมืองไทยเป็นการปกป้องหรือคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะไม่ให้ถูกละเมิด ไม่ได้เอากฎหมายหรือใช้เรื่องความมั่นคงไปละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของประชาชน ตรงนี้อาจเป็นความเข้าใจผิด มันแยกชัดเจนระหว่างกฎหมายที่ออกมาดูแลความมั่นคง ปกป้องสิทธิของประชาชน และเราก็ไม่ได้ไปใช้กฎหมายในการไปละเมิดสิทธิของประชาชนในเรื่องการสื่อสารหรืออะไรทั้งนั้น มันชัดเจนว่าทั้งสองอย่างเดินไปได้ โดยที่ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนและยังสามารถคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้ด้วย

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ : “สิทธิส่วนตัวต้องมาก่อน”

 

สิทธิส่วนตัวเป็นพื้นฐานที่จะต้องมาก่อน เพราะว่ารัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมทั้งสิทธิความเป็นส่วนตัว กรณีที่รัฐจะละเมิดต้องเป็นกรณีที่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น สมมติถ้าจะอ้างเรื่องความมั่นคงเพื่อละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวก็ต้องเป็นกรณีที่มีภัยคุกคามความมั่นคงอย่างชัดแจ้ง เช่น ภัยสงคราม ประเทศถูกรุกราน ถูกโจมตีจากการก่อการร้าย ในระดับนี้เท่านั้นถึงจะเป็นข้ออ้างที่มีน้ำหนักที่จะให้รัฐมาละเมิดหรือเข้ามาทำอะไรที่กระทบกับ privacy (ความเป็นส่วนตัว) ของประชาชน แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างจำกัดและชั่วคราวเท่านั้น

 

จริง ๆ คำถามนี้ก็ยังเชย ที่เอาแค่เรื่องความมั่นคงกับความเป็นส่วนตัวมาปะทะกัน เพราะฉะนั้นการที่ตอบว่าต้องหา “ทางสายกลาง” ก็อาจจะไม่ผิดเพราะคำถามมันไม่ค่อยดีเอง เพราะวิวาทะในเรื่องนี้มันไปไกลกว่านั้นแล้ว แม้แต่คอนเซ็ปต์เรื่อง “ความมั่นคง” ก็ไปไกลแล้ว มันต้องนิยามก่อนว่า เรากำลังพูดถึงความมั่นคงอะไร ซึ่งระยะหลังองค์กรต่าง ๆ จะพูดถึงเรื่อง human security (ความมั่นคงของมนุษย์) มันไปไกลกว่าความมั่นคงของรัฐหรือของรัฐบาล ซึ่งรัฐจะหาข้ออ้างเสมอ แม้กระทั่งรัฐมหาอำนาจในโลกหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ เองก็มักจะละเมิดสิทธิประชาชน เช่น ดักฟังโทรศัพท์ แฮ็กข้อมูล โดยอ้างภัยคุกคามลอย ๆ ที่ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีพยานหลักฐาน

 

หลายคนเดาว่าคำถามนี้เกี่ยวกับการเมืองไทยหรือเปล่า แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่เสียทีเดียว คำถามนี้เกิดขึ้นเพราะคนตระหนักถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในยุคของอินเทอร์เน็ต และคนที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในยุคนี้ไม่ใช่แค่รัฐแล้ว แต่ยังรวมถึงบริษัทเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ที่ล้วงข้อมูลของคนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นปัญหาจึงซับซ้อนกว่าเรื่องนโยบายความมั่นคงของรัฐ

 

“นางงาม” ในโลกออนไลน์ร่วมตอบคำถาม

 

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียร่วมกันตอบคำถามเดียวกันนี้อย่างคึกคักเช่นกัน

 

ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อบัญชีว่า benwonx เห็นว่าต้องเลือกความมั่นคง แบบที่จะละเมิดความเป็นส่วนตัวน้อยที่สุด ตามหลักการสากลอย่าง Necessary & Proportionate

 

 

น.ส. ณัฏฐา มหัทธนา หนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นอีกหนึ่งคนที่แสดงความคิดเห็นผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว ว่าการสอดแนมของรัฐบาลด้วยข้ออ้างความมั่นคงนั้นนับว่าคุกคามสิทธิความเป็นส่วนตัว

 

ส่วนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตอบคำถามที่ว่า อะไรสำคัญกับคุณมากกว่ากันระหว่างความเป็นส่วนตัวและความมั่นคง? ไว้ว่า

 

“สิทธิความเป็นส่วนตัวของเราทุกคนนั้นถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 12

 

แต่ในโลกยุคสมัยใหม่บริษัทเทคโนโลยีต่างกุมอำนาจมหาศาล ในโลกดิจิทัลพวกเขาเก็บรวบรวมและค้ากำไรจากข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหลายพันล้านคน จึงทำลายความเป็นส่วนตัว และเป็นปัญหาท้าทายสำคัญสุดอย่างหนึ่งต่อสิทธิมนุษยชนในยุคของเรา

 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรื้อโครงสร้างธุรกิจที่มีการสอดส่องออนไลน์และคุ้มครองบุคคลให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนของบรรษัท ทั้งนี้โดยการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่เข้มแข็ง และการใช้มาตรการที่เป็นผลเพื่อควบคุมให้บริษัท ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินการอย่างสอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญต้องไม่ใช้เหตุผลด้าน “ความมั่นคง” ในการละเมิดสิทธิของประชาชน

matemnews.com 

9 ธันวาคม 2562