วันที่ 9 มกราคม 2563 จากกรณีที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แล้วพาดพิงถึงระบบไบโอเมตทริกซ์ (Biometrics) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนำมาใช้ตรวจสอบชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าออกประเทศไทย ว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีอย่างที่คิด
วันนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า ไม่ทราบว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เอาข้อมูลมาจากไหนว่าระบบไบโอเมตทริกซ์ไม่สามารถใช้งานได้จริง ทั้งที่เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงใช้งานได้จริง ที่ผ่านมาสามารถจับกุมชาวต่างชาติที่ต้องคดี หรือมีประวัติก่ออาชญากรรม ที่พยายามหลบหนีเข้าประเทศไทย หรือหลบหนีเข้ามาแล้วได้จำนวนมาก จึงถือว่าการนำระบบนี้มาใช้มีความคุ้มค่า ที่สำคัญคือจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นใจนานาประเทศว่าประเทศไทยมีระบบคัดกรองที่มีมาตรฐานมีความปลอดภัย อีกทั้งป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย จึงถือว่าการนำระบบไบโอเมตทริกซ์มาใช้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป ที่ออกมาชี้แจงก็เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจแก่สังคม
อีกทั้งยังระบุว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้อนุมัติโครงการ มีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับนานาชาติ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ไม่ควรนำเรื่องระบบไบโอเมตทริกซ์ไปเชื่อมโยงกับความขัดแย้งส่วนตัว
พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ให้ผู้เชี่ยวขาญจากหลายหน่วยงานมาตรวจสอบว่าระบบไบโอเมตทริกซ์งานได้จริงหรือไม่ ซึ่งได้รับรายวานยืนยันว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพใช้งานได้จริง ซึ่งตั้งแต่ตนเองมาปฎิบัติหน้าที่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อยู่ระหว่างส่งงานงวดที่ 3 ซึ่งปัจจุบันติดตั้งไปครบทั้ง 6 งวดแล้ว ตามสัญญา ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ตรวจสอบคนมาแล้ว 48 ล้านคน จับกุมบุคคลตามแบล็คลิสต์ได้ 4,353 คน ตรวจสอบบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรเกินเวลาที่กำหนด หรือ โอเว่อร์สเตย์ 126,989 คน จับกุมได้ 3,166 คน ได้เงินค่าปรับไปแล้วกว่า 240 ล้านบาท
อีกทั้งยังเห็นว่า พลตำรวจโทสุรเชษฐ์นำเรื่องความขัดแย้งส่วนตัวมาเชื่อมโยงกับระบบไบโอเมตทริกซ์ เนื่องจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้อนุมัติโครงการ ตนก็พร้อมจะชี้แจงกับ ประชาชนเพราะทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดซื้อ การตรวจสอบ และการนำมาใช้ มีความโปร่งใสทุกขั้นตอน
นายอาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลพัฒนาดิจิตอล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในผู้ร่วมตรวจสอบระบบไบโอเมตทริกซ์ ก็ยืนยันเช่นกันว่าเป็นระบบที่มีมาตรฐานสากล ท่าอากาศยานชั้นนำของโลกหลายแห่งก็ใช้ระบบนี้ พร้อมกับยืนยันเช่นกันว่าระบบไบโอเมตทริกซ์ใช้งานได้จริง แต่อาจจะมีความล่าช้าในการเชื่อมโยงระบบไปบ้าง ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ เมื่อทุกอย่างเข้าระบบก็จะสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ด้าน พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 ในฐานะผู้ปฎิบัติงานที่ควบคุมดูแลท่าอากาศยานนานาชาติในประเทศไทย ยืนยันว่า ระบบไบโอเมตทริกซ์ ได้นำมาช่วยในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ทำให้การตรวจสอบบุคคลมีความแม่นยำ เพราะมีฐานข้อมูลบุคคลต้องสงสัย หรือบุคคลต้องห้าม จนสามารถคัดกรองบุคคลเข้าออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ.