Home ข่าวทั่วไปรอบวัน คนไทยผู้อยู่แต่ในบ้านความเสี่ยงติดไวรัสโคโรน่า – ก็เป็นศูนย์

คนไทยผู้อยู่แต่ในบ้านความเสี่ยงติดไวรัสโคโรน่า – ก็เป็นศูนย์

489
0
SHARE

 

 

 

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเช้า 1 ก.พ.2563  ว่า

 

“ขณะนี้ยังคงมีผู้ป่วยยืนยัน 19 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 7 ราย เหลืออยู่ใน รพ. 12 ราย โดยทุกรายมีอาการดีขึ้น รอเพียงผลตรวจยืนยันว่า ไม่มีเชื้อแล้วจึงสามารถให้กลับบ้านได้ สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ตั้งแต่วันที่ 3-31 ม.ค. 2563 มีทั้งสิ้น 344 ราย มีทั้งคนจีนและคนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนจีน โดยคัดกรองจากสนามบิน 39 ราย มารับการรักษาที่ รพ.เอง 305 ราย อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 70 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ยังคงอยู่ใน รพ. 274 ราย ยังรอผลในห้องปฏิบัติการ หรือไม่ก็ยังอาการไม่ดีขึ้นจากโรคอื่นที่วินิจฉัยไปแล้ว ส่วนสาเหตุที่ระยะหลังจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์มีจำนวนมากขึ้น เพราะเราขยายวงในการเฝ้าระวังออกไป จากเฉพาะคนที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น เป็นทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศจีน และคนไทยที่ทำงานสัมผัสกับคนจีนอย่างใกล้ชิดเสี่ยงสูง  เดิมนั้นเชื้อโคโรนาไวรัสเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่ได้ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรง โดยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ไม่กี่วันก็หาย แต่ระยะต่อมาเจอเชื้อโคโรนาไวรัสก่อความรุนแรง ตัวแรกคือ ซาร์ส ในปี 2003 มีผู้ป่วยทั่วโลก 8,000 คน เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณเกือบ 10%  ตัวที่สอง คือ เมอร์ส เมื่อปี 2012 มีผู้ป่วยประมาณ 2,000 กว่าคน อัตราป่วยตายคือ 30% ทุกวันนี้ยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ซาร์สไม่เจอผู้ป่วยแล้ว ส่วนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เรารู้ว่าแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเมอร์สและซาร์ส   ตอนนี้ที่ประเทศจีนที่เดียว ในเดือนเดียวผู้ป่วยกำลังจะแซงหน้าซาร์สแล้ว ส่วนตัวเลขที่ยังไม่ทราบ คือ ป่วยกี่คน ตายกี่คน ตรงนี้คือความรุนแรง ดังนั้น เชื้อแต่ละตัวที่เราที่เราสนใจมี 2 ส่วน คือ แพร่เร็วหรือไม่ และติดเชื้อแล้วโอกาสเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน ตัวเลขอัตราป่วยตายยังไม่ทราบและอยากทราบมากๆ   ความเสี่ยงการติดเชื้อภายในประเทศและของแต่ละบุคคล ขึ้นกับโอกาสที่จะไปสัมผัสเชื้อมีมากน้อยแค่ไหน โดยทั่วไปเชื้ออยู่ในคน ก็ต้องพิจารณาว่า วันนี้เดินออกจากบ้านไปเจอคนป่วยโรคนี้มีมากน้อยแค่ไหน  วันนี้ผู้ป่วยจริงๆ ในไทยน้อยมาก ถ้าไม่สัมผัสผู้ป่วยโอกาสติดเชื้อต้องบอกว่าเป็นศูนย์ และผู้สัมผัสมี 2 แบบ คือ 1.การสัมผัสแบบผิวเผิน (Castual Contact) เช่น เดินสวนกัน ไม่ได้มองหน้ากัน เดินผ่านกันในห้างสรรพสินค้า รูปแบบนี้เรียกว่าความเสี่ยงใกล้ศูนย์ คือต่ำมากๆ โอกาสที่จะติดเชื้อแทบไม่มีเลย และ 2.การสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (Close Contact) คือ มีความใกล้ชิดมากขึ้น เช่น ยืนคุยกัน หันหน้ามองกัน ถ้าพูดคุยกันนานระยะเวลาหนึ่งก็จะเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด การอยู่ด้วยกันในสถานที่ปิดระยะเวลาหนึ่ง เช่น รถแท็กซี่ ซึ่งเป็นสถานที่ปิดแคบด้วย ส่วนในลิฟต์ เป็นสถานที่ปิดแคบ แต่อยู่ร่วมกันแค่ไม่กี่วินาที จะต้องอยู่ในพื้นที่ปิดนานพอสมควร ถึงจะถือว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ส่วนการติดเชื้อมีได้ 2 แบบ คือ คนไข้ไอ พูดแล้วน้ำลายกระเด็นออกมา และอีกคนหายใจเอาละอองเข้าไป คือติดเชื้อทางเดินหายใจ และการไปสัมผัสเชื้อจากน้ำมูกน้ำลายที่ออกมาจากผู้ป่วยตามสถานที่พื้นผิวต่างๆ แล้วเอามือที่มีเชื้อมาขยี้ตาจมูกปาก  ถามว่าวันนี้เมืองไทยเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน โอกาสเจอผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหนและจะลดความเสี่ยงได้อย่างไร นั่นคือ เรามีผู้ป่วยในไทยมากน้อยแค่ไหน เอาเข้าสถานพยาบาลหมดหรือยัง ถ้าเอาเข้ามาได้ ข้างนอกก็ไม่มีผู้ป่วยเหลืออยู่ แต่ตราบใดที่มีคนเดินทางจากจีนเข้ามา คนไทยก็มีโอกาสเสี่ยง แต่จะเสี่ยงแตกต่างกันไป ใครทำงานใกล้ชิดคนจีนก็เสี่ยงสูงกว่า คนที่วันๆ แทบไม่เจอหน้าใครเลย อยู่แต่ในบ้านความเสี่ยงก็เป็นศูนย์ ดังนั้น การดำเนินการคัดกรองยังคงดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป เนื่องจากยังมีผู้เดินทางจากประเทศจีนเข้ามาประเทศไทย สำหรับคนไทยโอกาสความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ส่วนใครมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนไทยทั่วไป ก็ต้องป้องกันตัว เช่น คนขับแท็กซี่ รถตู้ ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดรถด้านใน เพราะอาจมีการปนเปื้อนละอองน้ำลายต่างๆ หากไปรับคนจีนมีอาการไข้ไอมาด้วย ก็ทำความสะอาดรถบ่อยๆ เป็นการป้องกันตนเองและผู้โดยสารไปด้วย ใครอยู่ในอาชีพที่มีความเสี่ยงก็จะแนะนำประมาณนี้ สำหรับคนไทยอื่นๆ ที่จะสัมผัสผู้ป่วยน้อยมาก บางพื้นที่ไม่มีคนจีนไปเลย ก็ใช้ชีวิตตามปกติ ให้พิจารณาตามความเสี่ยงของตัวเอง ใครก็ตามที่มีการทำงานสัมผัสใกล้ชิดคนจีน มีอาการไข้ไอเจ็บคอ หายใจลำบาก ให้โทร. 1422 หรือเข้าพบแพทย์ที่ รพ.โดยสวมหน้ากากอนามัยไปเรียบร้อย แจ้งกับแพทย์ว่าเข้าพบด้วยเรื่องอะไร การแจ้งไว้ก่อนทำให้ รพ.ตื่นตัว และป้องกันบุคลากรและคนไข้อื่นด้วย   ผู้ป่วยจีนที่มีอาการไอจามไป รพ. ต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ว่าพยายามให้คำแนะนำอย่างดีแค่ไหน ก็อาจมีใครบางคนไม่ได้ปฏิบัติตาม สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด คือ ให้คำแนะนำผู้เดินทางทุกคน มีอาการไอจามแจ้งหน้าหน้าที่ ไป รพ.เองให้ใส่หน้ากากอนามัย  อาจเจอคนมีอาการจริง หรือมีอาการน้อยมากไม่มีใครดูออก ส่วนนี้ก็ทำเต็มที่สุด คือ ป้องกันตัวเอง เป็นเหตุผลที่แนะนำให้คนขับรถสาธารณะ แท็กซี่ รถตู้ สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งใช้หน้ากากผ้าธรรมดาได้ จะได้ไม่สิ้นเปลืองมาก ล้างมือบ่อยๆ เช็ดทำความสะอาดรถ”

 

matemnews.com 

1 กุมภาพันธ์ 2563