“เขาก็ไปแล้ว ขอให้ผ่านประเด็นนี้ไป” ผบ.ทหารสูงสุดให้จบเรื่อง “พล.ท.พงศกร ส.ส.อนาคตใหม่”ยังอยู่บ้านหลวง
กองทัพเรือ เป็นเจ้าภาพสถานที่ประชุม ผบ.ทุกเหล่าทัพ ในท้องพระโรงพระราชวังเดิม เมื่อตอนเช้า 18 ก.พ.2563 เข้าประชุมครบทุกเหล่า พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมด้วย ก่อนเริ่มประชุมมีการยืนไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตกราดยิงที่โคราชนาน 1 นาที
พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ว่า
“ผู้บัญชาการเหล่าทัพได้มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้ก็จะมีการพูดคุยในที่ประชุมหารือในประเด็นที่จะตกลงใจในหลายเรื่องไม่ใช่เฉพาะเรื่องสวัสดิการทหาร และจะซักซ้อมการทำงานในระยะเวลาต่อไป ผมมองว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร สวัสดิการทหารทั้งหมด เหล่าทัพดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และประกาศคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจประกาศ ณ วันที่ 8 กรกฏาคม 2548 ยืนยันว่าเราไม่ได้ปฏิบัตินอกกรอบ หรือไม่มีหลักเกณฑ์ เพียงแต่เป็นที่สนใจว่ามีบางกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ผ่านมาทุกเหล่าทัพได้นำเงินค่าเช่าหรือเงินรายได้เข้าเป็นเงินรายได้แผ่นดินเป็นปกติอยู่แล้ว มีกิจการเล็กๆน้อยๆ เช่น ร้านค้าในหน่วยที่ผู้ใช้บริการเป็นกำลังพล ก็อยู่ในข่ายการจัดสวัสดิการภายในหน่วยราชการ แต่กิจการที่มีเอกชนหรือบุคคลภายนอกมาใช้ประโยชน์สัดส่วนสูงก็เข้าข่ายสวัสดิการเชิงธุรกิจ เหล่าทัพยินดีที่จะปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์ตามที่กำหนด โดยเหล่าทัพจะติดต่อโดยตรงกับกรมธนารักษ์ เมื่อมีกิจการใดที่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อขออนุญาตนำส่งและขอให้กรมธนารักษ์กำหนดหลักเกณฑ์ว่าต้องส่งเท่าไร กรณีที่กองทัพบกทำเอ็มโอยู เนื่องจากกองทัพบกมีกิจการสวัสดิการจำนวนมาก ในขณะที่เหล่าทัพอื่นไม่จำเป็นต้องทำเอ็มโอยู เพราะได้ติดต่อโดยตรงกับกรมธนารักษ์อยู่แล้ว เพียงแต่จะมีการทบทวนให้ครบถ้วนว่ามีรายการตกหล่นหรือไม่”
นักข่าวถามประเด็น พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยังอยู่บ้านพักทหารของศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย ถนนรามอินทรา แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว พล.อ.พรพิพัฒน์ ตอบ
“ ตามหลักการทั่วไปไม่ใช่เฉพาะในส่วนของทหาร แต่บ้านพักหลวงเมื่อเกษียณฯแล้วต้องส่งคืน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีกำลังพลไม่มีความพร้อม และลำบาก จึงยืดหยุ่นให้เฉพาะบางราย ซึ่งบ้านพักราชการไม่ได้อยู่เฉพาะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แต่มีชั้นผู้น้อยที่ยังไม่พร้อมย้ายออก เช่น นายสิบ จ่า ทหารชั้นประทวน ลูกจ้างราชการที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต และไม่สามารถขยับขยายได้ก็ผ่อนผันยืดหยุ่น ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก”
นักข่าวถาม ทำไม พล.ท.พงศกร จึงขอผ่อนผันอยู่เป็นเวลาหลายปี พล.อ.พรพิพัฒน์ ตอบ
“ก็ในที่สุด พล.ท.พงศกร ก็ไปแล้ว ขอให้ผ่านประเด็นนี้ไป ส่วนการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้รับความเป็นธรรมและเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และการปกครองไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผู้บังคับบัญชาทุกคนให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้ เมื่อมีการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงเราก็จะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าผู้บังคับบัญชาต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุข หากผู้ใต้บังคับบัญชามีความไม่สบายใจ แร้นแค้น และลำบาก ผู้บังคับบัญชาต้องไปแก้ไขดูแล ยืนยันเรามีมาตรฐานว่า เมื่อเกษียณฯแล้วต้องออกจากบ้านพัก เพียงแต่ความยืดหยุ่น เราสามารถพิจารณาได้เป็นกรณี ทั้งในส่วนของผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา เราไม่สามารถไปชี้ได้ว่าเหตุผลใดต้องอยู่หรือเหตุผลใดต้องออก ขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเจ้ากรมสวัสดิการที่รับผิดชอบ หากเป็นกรณีที่เกินอำนาจและมีความซับซ้อนก็จะเรียนผู้บังคับบัญชา เพื่อขออนุญาต ยอมรับว่าในส่วนของกองทัพไทยมีทหารเกษียณฯแล้วยังอยู่บ้านหลวงจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา การอยู่บ้านพักหลวงถือเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง และเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา แม้จะอยู่ในราชการหรือเกษียณฯไปแล้ว หากไม่สุดวิสัยจริงๆ หรือมีความจำเป็น มีความต้องการเราก็พร้อมยืดหยุ่นให้เพื่อให้เขาประสบความลำบากและกระทบกระเทือนน้อยที่สุด ประเทศไทยเราอยู่ด้วยความเมตตาธรรม ส่วนที่มีการปล่อยสิทธิ์ให้เช่าต่อนั้น เรื่องนี้เป็นคนละประเด็น”
ถามต่อว่า กองบัญชาการกองทัพไทยจะมีการเปิดสายตรง ผบ.ทสส.ให้กำลังพลร้องเรียนได้โดยตรงหรือไม่ พล.อ.พรพิพัฒน์ ตอบ
“ ทหารก็เหมือนกับส่วนราชการอื่น มีช่องทางการร้องเรียนอยู่แล้วผ่านสายการบังคับบัญชา และจะเปิดฮอตไลน์วันสตอปเซอร์วิส อีกทั้งยังมีศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย โดยมีหลายช่องทางให้เลือกใช้บริการ และแต่ละเหล่าทัพก็ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนมาแก้ไข”
matemnews.com
18 กุมภาพันธ์ 2563
matemnews.com
18 กุมภาพันธ์ 2563