Home ข่าวทั่วไปรอบวัน การสนุกสนานกับการท่องเที่ยวเราไปเวลาไหนก็ได้ แต่อย่าเพิ่งไปช่วงนี้ อย่าเห็นแก่ตั๋วราคาถูก แต่มันจะแพงมากหากต้องแลกด้วยชีวิต…คณะหมอขอร้อง

การสนุกสนานกับการท่องเที่ยวเราไปเวลาไหนก็ได้ แต่อย่าเพิ่งไปช่วงนี้ อย่าเห็นแก่ตั๋วราคาถูก แต่มันจะแพงมากหากต้องแลกด้วยชีวิต…คณะหมอขอร้อง

433
0
SHARE

การสนุกสนานกับการท่องเที่ยวเราไปเวลาไหนก็ได้ แต่อย่าเพิ่งไปช่วงนี้ อย่าเห็นแก่ตั๋วราคาถูก แต่มันจะแพงมากหากต้องแลกด้วยชีวิต…คณะหมอขอร้อง

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว ที่อาคารศรีสวรินทิรา รพ.ศิริราช เมื่อตอนสายวันที่ 27 ก.พ.2563  หัวข้อ

 

“เรียกร้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงไวรัส COVID-19 ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการให้ข้อมูลที่เป็นจริง”

 

ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วยด้วย

 

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ แถงว่า

 

“สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการระบาดเป็นวงกว้าง และแม้จะคาดกันว่าในที่สุด โรค COVID-19 จะระบาดไปทั่วโลก แต่ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต้องการให้การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น มีการชะลอให้ช้าที่สุด มีผู้ป่วยน้อยที่สุด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขที่มีสามารถดูแลรองรับผู้ป่วยได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการ รวมทั้งเวลาที่ชะลอได้นี้ จะทำให้เกิดความพร้อมทั้งเครื่องมือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และยามากขึ้น จึงได้มีการขอความร่วมมือให้งดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดในช่วงนี้ และรีบวินิจฉัย แยกผู้ป่วยให้เร็วที่สุด  สาเหตุหนึ่งของการระบาด คือ การที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ได้แก่ ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดสูง ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมทั้งอิตาลี และอิหร่าน ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยไม่แยกตัวหลังจากเดินทางกลับ ทำให้มีโอกาสไปแพร่เชื้อได้ต่อเนื่อง และไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเมื่อเจ็บป่วย ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ล่าช้า ดังเช่นกรณีผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและมีอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล แต่ไม่เปิดเผยประวัติการเดินทาง ทำให้บุคคลใกล้ชิดทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ทันเตรียมตัวป้องกันการติดต่ออย่างถูกต้อง อันอาจนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้างต่อ  อยากให้ทุกคนปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศอย่างเคร่งครัด คนที่เดินทางไปพบแพทย์เพราะเขามีอาการ หากเขาป่วยจริง ตรงนี้เขาช่วยคนอื่นได้มาก เพราะไม่ไปกระจายเชื้อให้คนอื่น จะเป็นการสกัดการแพร่เชื้อแก่ผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเน่ ตรงนี้ผมขอชื่นชม ส่วนคนที่ยังไม่ได้เดินทางไป ขอให้หยุด ชะลอไว้ก่อน การสนุกสนานกับการท่องเที่ยวเราไปเวลาไหนก็ได้ แต่อย่าเพิ่งไปช่วงนี้ อย่าเห็นแก่ตั๋วราคาถูก แต่มันจะแพงมากหากต้องแลกด้วยชีวิต ซึ่งกี่ชีวิตก็ทดแทนไม่ได้ อยากให้ตระหนักในเรื่องนี้ เป็นการแสดงพลังความเป็นคนไทย รู้รักสามัคคี ไม่ได้เซฟแค่ตัวเอง แต่เซฟคนไทย เซฟประเทศด้วย   ในช่วงนี้มีนิสิต นักศึกษา หลายแห่งมีการชุมชนเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมขอแนะนำในฐานะทางการแพทย์ ขอให้ช่วงนี้เลื่อนการชุมนุมออกไปก่อน เพราะการมาร่วมกันในกลุ่มคนจำนวนมาก  ไม่รู้ว่ามีผู้ป่วยมาชุมชนด้วยหรือไม่ จึงเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อได้ ขณะนี้ สธ. และเครือข่ายที่ดูแลด้านสุขภาพ วางแผนการรักษา ป้องกันการแพร่กระจาย เพื่อไม่ให้ขยายในวงกว้าง ในขณะนี้ รพ.ศิริราช ได้มีการจัดสรรพื้นที่คัดกรอง ซึ่งเชื่อว่าทุก รพ.ก็มีขบวนการคัดกรองเช่นกัน ขอเพียงแต่แจ้งให้ชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้วมีอาการ จะได้ช่วยกันสกัดไม่ให้มีการแพร่เชื้อ”

 

ศ.พญ.ยุพิน แถลงว่า ขอเรียกร้องให้ผู้มีประวัติเสี่ยงตระหนักถึงผลกระทบต่าง ๆ ร่วมกันรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และต่อประเทศชาติ หยุดการแพร่กระจายโรค โดยการแยกตัวจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค หากเจ็บป่วยต้องให้ประวัติที่แท้จริงเมื่อเข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย และขอให้คำแนะนำสำหรับประชาชน และครอบครัวที่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ดังนี้ ผู้ที่เดินทางกลับหรือแวะพักจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน มาเก๊า ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ให้แจ้งการเดินทางกลับแก่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทางโทรศัพท์ทันทีเพื่อลางาน  หยุดทำงานหรืออยู่บ้านเป็นเวลา 14 วันนับจากเดินทางถึงประเทศไทย พร้อมกันนี้ให้แยกพื้นที่อาศัย เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ กับผู้อื่น ถ้าเป็นไปได้เลือกอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลในที่พักอาศัยอย่างน้อย 1 เมตร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเมื่อต้องใกล้ชิด ให้สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล เป็นประจำอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิดด้วย เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ฯลฯ ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ชุมชน  ผู้ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกับกลุ่มที่ 1 ในช่วง 14 วันแรก ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้นั้นในที่พักอาศัยอย่างน้อย 1 เมตร โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล เป็นประจำอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้นั้น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯใส่หน้ากากอนามัย ถ้าจำเป็นต้องใกล้ชิดผู้นั้น ทั้งสองกลุ่ม ต้องเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของตนเองและผู้ใกล้ชิด ที่อาจบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ ได้แก่ อาการไข้ ถ้ารู้สึกว่ามีไข้ ให้ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ว่าอุณหภูมิที่วัดทางปากมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือทางรักแร้มากกว่า 37.0 องศาเซลเซียสหรือไม่ อาการผิดปกติของทางเดินหายใจเฉียบพลัน เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อยหอบ หรือหายใจเร็ว หากผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับหรือแวะพักจากประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวหรือคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ ข้างต้นทั้ง 2 ข้อ ให้ติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาหรือ โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง หรือ สอบถาม สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”

 

ศ.พญ.กุลกัญญา แถลงว่า

 

“ในกรณีมีเด็กร่วมเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยงด้วย ให้รีบแจ้งโรงเรียนและหยุดไปเรียน อยู่บ้าน ไม่ไปในสถานที่สาธารณะ สถานรับเลี้ยงเด็ก และไม่ให้เล่นกับเด็กอื่น ๆ เป็นเวลา 14 วัน หลังจากเดินทางกลับ เด็ก ๆ อาจไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ก็ไม่เป็นไร แต่ควรเน้นให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ และหากมีอาการเจ็บป่วย ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ในกรณีที่มีเด็กอยู่ร่วมบ้านกับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ควรแยกเด็กให้ห่างออกมา และปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 2 หากมีอาการเจ็บป่วย ต้องให้ข้อมูลการอยู่ร่วมบ้านกับผู้มีความเสี่ยงด้วย  ถ้าเดินทางมาพบแพทย์ หรือมาโรงพยาบาล ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางสาธารณะ ถ้าเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างรถยนต์ไว้เสมอ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทำความสะอาดมือ ด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร และไม่สัมผัสผู้อื่นหรือสิ่งของต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น แจ้งบุคลากรของโรงพยาบาลทันทีว่า ท่านมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019”

 

matemnews.com

27 กุมภาพันธ์ 2563