ผลกระทบของโควิดซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่หายป่วยโควิดแล้ว ที่เรียกว่า “Long Covid” ซึ่งถือว่าอันตรายและส่งผลกระทบต่อผู้ที่เคยป่วยโควิดในระยะยาว
.
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า อาการ Long Covid ที่เจอส่วนใหญ่มักจะอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากมีโรคประจำตัวก็อาจเกิดผลกระทบกับอวัยวะข้างเคียง เช่น คนที่เป็นโรคหัวใจ อาการของ Long Covid ก็จะใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ คนที่เป็นหอบหืดจะหายใจลำบาก ไอเรื้อรัง
.
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กล่าวต่อว่า Long Covid จะเกิดตั้งแต่หลังหายจากโควิดไปจนถึง 6 เดือนหลังจากนั้น ซึ่งถือเป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวัง
.
“Long Covid สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าหากเป็นภาวะที่ทำให้เกิดสมองอักเสบเรื้อรังและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเกิดภาวะเฉียบพลันได้เป็นระยะ ที่หนักที่สุดสำหรับเราตอนนี้คือคนไข้เก่าที่เป็นโรคทางสมองอยู่แล้ว เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อม ลมชัก ซึ่งหลังจากหายจากโควิดก็มีอาการมากขึ้น สมองเสื่อมมากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีอาการลมชักที่ควบคุมไม่ได้ หรือคนที่เป็นสมองอักเสบที่เกิดจากภูมิคุ้มกันแปรปรวนก็ควบคุมอาการได้ยากขึ้น หากมีอาการความจำเสื่อม การเคลื่อนไหวผิดปกติ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จะอันตรายมาก และกลายเป็นภาระของครอบครัว อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
.
“หลักการคือระวังอย่าให้ติดโควิด ซึ่งจะไม่เป็น Long Covid แน่ๆ หากติดโควิดต้องดูว่าร่างกายตนเองเป็นอย่างไร ถ้ามีปัญหารีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น ถ้ามีอาการหอบหืด ต้องทดสอบเป่าลมหายใจเพื่อดูว่าปอดทำงานดีไหม ถ้ามีอาการใจสั่นต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อทดสอบการเต้นของหัวใจว่าผิดปกติหรือไม่ คือผลกระทบโดยรวมไม่น่าจะรุนแรง ยกเว้นคนที่มีโรคประจำตัว อายุเกิน 60 ปี หรือมีอาการรุนแรงขณะที่ป่วยโควิด ซึ่งอาการ Long Covid อาจจะรุนแรงและเรื้อรัง เช่น นอนไม่หลับ หายใจหอบเหนื่อย ส่วนนอกเหนือจากนั้นอาการจะไม่รุนแรง แต่คุณภาพชีวิตไม่เหมือนเดิม” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
.
กรมการแพทย์ เผยภาวะ Long COVID เป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรือต่อเนื่องภายหลังการติคเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และมีอาการอยู่นานอย่างน้อย 2 เดือน เกิดขึ้นได้หลายระบบ จากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์ อาการที่มพักพบบ่อยมีดังนี้
.
ระบบทางเดินหายใจ (44.38%) หอบเหนื่อย ,ไอเรื้อรัง
ระบบทางจิตใจ (32.1%) นอนไม่หลับ ,วิตกกังวล ,ซึมเศร้า
ระบบประสาท (27.33%) อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ,ปวดศีรษะ ,มึนศีรษะ ,หลงลืม ,กล้ามเนื้อลีบ
ระบบทั่วไป (23.41%) อ่อนเพลีย ,ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ,ปวดตามข้อ
ระบบหัวใจและหลอดเลือด (22.68%) เจ็บหน้าอก ,ใจสั่น
ระบบผิวหนัง (22.8%) ผมร่วง ,ผื่นแพ้
.
ท่ีมา : กรมทางแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข / mgronline.com / khaosod.co.th