Home ไลฟ์สไตล์ By TipLife สิ่งควรทำ – ไม่ควรทำ เมื่อรู้ว่า “คนใกล้ตัวป่วยซึมเศร้า”!

สิ่งควรทำ – ไม่ควรทำ เมื่อรู้ว่า “คนใกล้ตัวป่วยซึมเศร้า”!

88
0
SHARE
เมื่อรู้ว่าคนใกล้ตัวของเราป่วยเป็น #โรคซึมเศร้า เชื่อว่าหลายๆคนอาจทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะพูดให้กำลังใจยังไง หรือจะทำอย่างไรให้เค้าดีขึ้นได้บ้าง ลองมาดูกันว่ามีสิ่งไหน หรือคำพูดไหนที่ควร และไม่ควรทำบ้าง
.
✅ ชวนทำกิจกรรมที่ทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย : การให้ผู้ป่วยได้มีกิจกรรมสนุกๆทำ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ได้ลงมือทำ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การถ่ายรูป ชวนออกเที่ยว หรือหาร้านอร่อยๆทาน อะไรก็ตามที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาจากเก้าอี้หรือเตียง แล้วได้เพลิดเพลินจนลืมเวลา ช่วยให้เขาออกจากช่วงเวลาที่คิดฟุ้งซ่าน หดหู่ และฮอร์โมนแห่งความสุขหรือเอ็นโดรฟินก็จะช่วยมอบรอยยิ้มบนใบหน้าให้กับเขาได้
✅ ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินใจแทน : การปล่อยให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกลึกๆ ของเขาออกมา เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจ โดยที่เรามีหน้าที่ฟังเฉยๆ ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินใจแทนเขาว่าหากเป็นเราเราจะทำอย่างไร หรือหากเขาถามหาความเห็นของเรา เราอาจจะตอบเป็นกลางๆ ไป เช่น ถ้าเขาบอกว่าไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว เราอาจจะบอกไปว่าอย่าทำแบบนั้นเลย เธอเป็นคนที่มีค่าสำหรับเรานะ ถ้ารู้สึกแย่ๆ กับตัวเองอีก มาคุยมาปรับทุกข์กับเราได้ทุกเมื่อ เราจะอยู่ข้างๆเธอไปตลอดแน่นอน
.
❌ อย่าตอบแบบปัดๆ หรือให้คำปรึกษาผิดๆ : การให้คำปรึกษาผิดๆ อาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง เช่น การให้คำแนะนำแบบปัดๆ ว่าฟุ้งซ่านก็ให้ไปเข้าวัดฟังธรรม โดยไม่ได้อยู่เคียงข้างเขา ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่ากำลังได้รับคำตอบที่ไม่จริงใจเพราะอาจทำให้รำคาญ เป็นภาระ อาจทำให้ยิ่งตีตัวออกห่าง และรู้สึกหดหู่กว่าเดิมได้
❌ อย่าทำเป็นไม่ได้ยิน : หลายๆ ครั้งที่เราอาจได้ยินผู้ป่วยตัดพ้อ หรือพูดถึงการอยากลาจากโลกนี้ไป พอเขาพูดบ่อยๆ เราอาจคิดว่าเขาพูดเล่น ไม่จริงจัง ซึ่งจริงๆ เขาอาจกำลังจะลงมือทำจริงๆก็ได้ หากเราไม่ใส่ใจในคำพูดของเขา เขาอาจจะคิดว่าเขาไม่สำคัญกับใครๆ อีกแล้ว และอาจกระตุ้นทำให้เขาอยาจากโลกนี้ไปมากขึ้น
❌ อย่ากดดันและเร่งรัด : โรคนี้ต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะค่อยๆดีขึ้นทีละนิด อาจทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลังเข้ารับการรักษาได้ค่อนข้างช้า ควรใจเย็นกับผู้ป่วย และอย่ากดดันหรือเร่งเร้าให้ผู้ป่วยหายไวๆ เช่นคำพูดที่บอกว่า “เมื่อไรจะหาย” หรือ “หายได้แล้ว” อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดัน และโทษตัวเองทุกครั้งที่อาการซึมเศร้ากำเริบ ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงมากกว่าเดิม
.
โรคซึมเศร้า ต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกวิธีจากจิตแพทย์ ในหลายๆรายจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อรักษาอย่างจริงจัง เมื่อมีสัญญาณบ่งบอกว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้า ควรยอมรับตัวเองและปรึกษาจิตแพทย์ทันที ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยซึมเศร้าทุกคนนะครับ
.
ที่มา : โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน / Sanook