เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มี.ค. วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine: NEJM) เผยแพร่รายงานกรณีศึกษาของ ดร.นิชานธ์ เดฟ และ ดร. เอส. ซาฟาร์ อับบาส จากวิทยาลัยแพทย์และโรงพยาบาล ESIC ในเมืองฟาริดาบัด ในประเทศอินเดีย ระบุว่า ชายหนุ่มวัย 18 ปีถูกนำตัวส่งแผนกฉุกเฉินด้วยอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (tonic-clonic seizures) โดยพ่อแม่ของเขาระบุว่า ลูกชายรู้สึกปวดที่โคนขาหนีบข้างขวามานานราว 1 สัปดาห์แล้ว ขณะที่ผลการตรวจร่างกายชี้ว่า เขามีอาการสับสน ตาขวาบวม และมีอาการเจ็บที่ลูกอัณฑะขวา
เพื่อให้รู้อาการของเขามากขึ้น แพทย์จึงทำการตรวจด้วยเครื่อง MRI และพบความเสียหายที่เกิดขึ้นโดย ซีสต์ (cysts) หรือถุงน้ำ ในเปลือกสมอง (cerebral cortex) และในก้านสมองซึ่งรวมถึงส่วนซีรีเบลลัม ซึ่งอยู่ด้านหลังศีรษะเหนือเส้นประสาทไขสันหลัง นอกจากนี้ แพทย์ยังพบซีสต์ในตาขวาและอัณฑะข้างขวาของคนไข้ด้วย
สิ่งที่พบทำให้แพทย์วินิจฉัยว่าชายคนนี้เป็นโรคจากไข่พยาธิตัวตืด อันเป็นโรคพยาธิในสมองที่เกิดจากการที่ คนกลืนไข่พยาธิตัวตืดที่อยู่ในอุจจาระของคนอื่นที่มีพยาธิในลำไส้ ตัวอ่อน ของพยาธิจะออกมาจากไข่และเจาะเข้าไปในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อสมอง และก่อให้เกิดซีสต์
เนื่องจากจำนวนที่มากมายและตำแหน่งของซีสต์ แพทย์จึงตัดสินใจไม่รักษาเขาด้วยยาต้านพยาธิ เพราะจะทำให้อาการเลือดออกในสมองเลวร้ายลง และอาจเกิดอาการติดเชื้อเฉียบพลันซึ่งจะนำไปสู่การเสียการมองเห็นได้ แต่หันไปใช้การรักษาด้วยยาแก้อักเสบเช่น ยาเดกซาเมทาโซน (dexamethasone) ซึ่งใช้รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือตาอักเสบ กับยาแอนติอิพิเลปติก (antiepileptic) หรือยาต้านอาการชัก
อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินได้ 2 สัปดาห์ คนไข้รายนี้ก็เสียชีวิต
ทั้งนี้ โรคซีสต์จากพยาธิตืดหมู (cysticercosis) เป็นโรคที่เกิดขึ้นทั่วโลก เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีหมูเดินเพ่นพ่าน และมีสุขอนามัยต่ำ แต่มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และชาติยุโรปอื่นๆ เช่นกัน