พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว 30 เม.ย.256 ว่า
“มีการศึกษาข้อมูลพบสารสกัดกัญชามีประโยชน์กับโรคทางผิวหนังหลายโรค เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ โรคเด็กดักแด้ ครีมบำรุงผิว เป็นต้น เบื้องต้นนี้สถาบันฯ มีความต้องการใช้กัญชาดอกแห้งมาทำวิจัยประมาณ 10 กิโลกรัม อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ การนำสารสกัดจากกัญชามาช่วยในการชะลอวัย เพราะมีงานวิจัยจากต่างประเทศหลายแห่ง ระบุว่า ในสารสกัดกัญชามีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ คาดว่า ภายในปี 2562 จะสามารถปลูกกัญชาและทำสารสกัดจากกัญชาได้ จากนั้นจะนำสารที่ได้มาใช้ทดลองในเซลล์ทดลองของมนุษย์ โรคทั่วไปในเบื้องต้นน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่โรคที่มีความซับซ้อนก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ดังนั้น ในปี 2563 น่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผิวพรรณ ผื่นภูมิแพ้ และน่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการชะลอวัย ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชาเป็นตัวแรก เพราะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหนังนั้น หลักๆ คือ ใช้ทา ดังนั้น จึงจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด สถาบันฯ จะยื่นขอปลูกกัญชาเอง เพราะหากไปขอจากหน่วยงานอื่นมาทำการทดลอง อาจมีปัญหาเรื่องสายพันธุ์ที่เราอาจจะควบคุมไม่ได้ เบื้องต้นได้มีการคัดเลือกแล้ว 5 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ของไทย 3 สายพันธุ์ และต่างประเทศ 2 สายพันธุ์ จากนั้นจะนำสารสกัดมาทดลองและวิจัย เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุดเพียง 2-3 สายพันธุ์ ก่อนขยายนำสู่กระบวนการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ สถาบันโรคผิวหนังเป็นสถาบันเชิงวิจัยวิชาการอยู่แล้ว สามารถดำเนินการปลูกได้ จะเป็นโครงการร่วมมือระหว่างสถาบันโรคผิวหนัง กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะปลูกในที่ดินของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่มีโรงเรือนพร้อมอยู่แล้ว เป็นแบบระบบปิด”
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แถลงว่า
“ขณะนี้สถาบันมะเร็งฯ มีความพร้อมหลายเรื่อง ประกอบด้วย
1.มีตัวบุคลากร เช่น แพทย์ เภสัชกร ที่เข้าร่วมอบรมการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ จะมีความรู้ความสามารถในการทั้ง สั่งจ่าย และให้ข้อมูลความรู้กับผู้ที่ใช้กัญชาได้
2.มีการวิจัยโรคมะเร็งที่มีการกำหนดโปรโตคอล (Protocol) ไว้หมดแล้ว เป็นต้น
ดังนั้น สถาบันมะเร็งฯ จึงต้องการผู้ร่วมวิจัย ร่วมปลูกกัญชา เช่นเดียวกับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม เข้ามาร่วมวิจัยกับทางสถาบันมะเร็งฯ เพราะการจะนำสารสกัดกัญชามาใช้ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาหรือวิจัย ตัวผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน รู้ส่วนประกอบชัดเจน ขณะนี้ยังผลิตไม่ได้ เพราะปัจจุบันที่มีการใช้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสายพันธุ์และความปลอดภัย บางครั้งใช้ได้ บางครั้งใช้ไม่ได้ เพราะทั้งสายพันธุ์และคุณภาพต่างๆ ยังไม่ได้ควบคุมในมาตรฐาน GMP ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมาก เมื่อทราบข่าวว่ามีทางเลือกและมีหนทางการรักษา ผู้ป่วยก็อยากจะใช้ เราก็อยากจะจ่ายให้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน และตอนนี้นโยบายของกรมการแพทย์ มีการเปิดกว้างให้หลายฝ่ายมาร่วมกันทำงาน เพราะหากรอแต่ขององค์การเภสัชกรรมอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ดังนั้น สถาบันมะเร็งฯ จึงอยากได้แหล่งการปลูกที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการใช้”
matemnews.com
30 เมษายน 2562