ชายชาวจีนวัย 27 ปีผู้หนึ่งที่ป่วยด้วยโรคประหลาด โดยมีอาการมึนเมาอยู่เสมอทั้งที่ไม่ได้ดื่มสุรา ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า แบคทีเรียในลำไส้บางชนิดสามารถผลิตแอลกอฮอล์ออกมาในปริมาณมาก จนทำให้บางคนต้องเมามายโดยไม่ได้ตั้งใจ และยังต้องล้มป่วยเป็นโรคไขมันพอกตับแบบที่ไม่ได้เกิดจากพิษสุรา (NAFLD) อีกด้วย
ภาวะที่บางคนมีอาการมึนเมาและป่วยเป็นโรคตับเหมือนคนติดสุรา ทั้งที่ชีวิตจริงไม่เคยได้ดื่มสักหยดเลยนั้น เคยมีการค้นพบครั้งแรกช่วงทศวรรษ 1940 โดยเรียกว่า “กลุ่มอาการร่างกายบ่มสุราได้เอง” (Auto-brewery Syndrome – ABS) ถือเป็นโรคที่พบได้ยากและเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ในลำไส้ ซึ่งยีสต์จะเปลี่ยนอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่กินเข้าไปให้กลายเป็นเอทานอล (Ethanol) หรือแอลกอฮอล์ชนิดดื่มได้ปริมาณมากออกสู่กระแสเลือด
แต่สำหรับกรณีที่มีการรายงานในวารสาร Cell Metabolism นี้ ทีมนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) พบว่าหนุ่มคนดังกล่าวไม่ได้ติดเชื้อยีสต์เหมือนกับผู้ป่วยกลุ่มอาการ ABS โดยทั่วไป แต่ในลำไส้ของเขากลับมีเชื้อแบคทีเรีย K. pneumoniae ซึ่งเป็นเชื้อที่อาศัยในลำไส้มนุษย์โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่มากผิดปกติ
มีการนำตัวอย่างอุจจาระของชายผู้นี้มาเปรียบเทียบกับของคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง 48 คน และเปรียบเทียบกับอุจจาระของคนที่ป่วยด้วยโรคตับ NAFLD อีก 43 คน ผลปรากฏว่าพบเชื้อ K. pneumoniae ในชายคนที่เป็นกรณีศึกษาในจำนวนสูงกว่าคนปกติถึง 19% ในขณะที่ผู้ป่วยโรคตับ NAFLD มีจำนวนแบคทีเรียดังกล่าวสูงกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย
ในกรณีของชายหนุ่มที่ทีมวิจัยศึกษา แบคทีเรีย K. pneumoniae ที่มีอยู่มากเกินปกติ สามารถจะผลิตแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นในกระแสเลือดได้มากถึง 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเท่ากับการดื่มเหล้าดีกรีแรงกว่าสิบช็อต และเสี่ยงที่จะทำให้เสียชีวิตอย่างฉับพลันได้ หากเขาดื่มน้ำผลไม้หรือกินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมากเป็นพิเศษ
นายแพทย์ จิง หยวน หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า การที่ร่างกายสามารถบ่มสุราได้เองเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มอาการ ABS ได้รับแอลกอฮอล์อยู่เป็นประจำ ซึ่งส่งผลทำลายสุขภาพตับเหมือนกับในกลุ่มคนที่ดื่มหนัก
“กรณีของชายคนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของแบคทีเรียในลำไส้ว่า อาจเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคตับ NAFLD ขึ้นได้” นพ. หยวนกล่าว
ก่อนหน้านี้ วงวิชาการแพทย์ทราบเพียงว่าโรคตับชนิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในคนไข้แต่ละราย บางครั้งแพทย์ก็ไม่สามารถระบุต้นตอของโรคในคนไข้บางรายได้