Home ฉลามเขียว แจกเงินหัว  2000 บาทโยงกับ COVID 19  ได้นะ

แจกเงินหัว  2000 บาทโยงกับ COVID 19  ได้นะ

441
0
SHARE

 

แจกเงินหัว  2000 บาทโยงกับ COVID 19  ได้นะ

 

เว็บไซต์รัฐบาลไทย เผยแพร่

นายกรัฐมนตรีประชุม ครม.เศรษฐกิจ พิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ออกมาตรการระยะสั้นให้เงินช่วยเหลือ 2 เดือน ยืนยันพร้อมนำพาคนไทยผ่านพ้นจากวิฤตการณ์ต่าง ๆ ในเวลานี้ไปให้ได้

 

วันนี้ (6 มี.ค.63) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.) เศรษฐกิจ ซึ่งภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีเผยว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้นำเสนอมาตรการต่าง ๆ โดยสิ่งแรกคือขออย่านำประเด็นเรื่องการให้เงินช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือนมาเป็นประเด็นสำคัญ เพราะมีประเด็นอื่นอีกหลายประเด็นทั้งในภาคประชาชน ผู้ประกอบการ SME มาตรการทางภาษี การเงินการคลังต่าง ๆ หลายมาตรการ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ วันนี้ต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือมาตรการเร่งด่วนชั่วคราว 2 เดือน ซึ่งบางส่วนอยู่ในการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้วในเรื่องการบริหารแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่จะนำมาเสริม  มาตรการวันนี้คือมาตรการบรรเทาลดผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนั้น รัฐบาลยังจะมีมาตรการรองรับปัญหาภัยแล้ง อะไรที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ต้องพิจารณาโดยรวมทั้งหมด โดยในส่วนของการให้เงินประชาชน ถ้าดูในต่างประเทศเขาก็ทำ แต่ของเราไม่ได้ทำจำนวนมากขนาดนั้น สิ่งที่เราทำวันนี้ไม่ใช่แค่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องมีการขึ้นบัญชีขึ้นทะเบียนใหม่ ให้รวมถึงประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย จึงขอให้เข้าใจให้ครบถ้วน มากบ้างน้อยบ้างก็ต้องยอมรับ เพราะในช่วง 2 เดือนนี้คือปัญหา

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการท่องเที่ยวว่า วันนี้มีข้อมูลมากพอสมควร อะไรที่ลดลงไปก็ต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง เช่น การช่วยเหลือเรื่องการจัดการประชุมตามโรงแรมต่าง ๆ ที่มีรายได้ลดลง การกู้เงิน Soft Loan ทั้งนี้ ขอให้แยกแยะให้ออก ถ้าจะโจมตีกันทุกเรื่องก็จะไปไม่ได้ เป็นมาตรการระยะสั้น 2 เดือน ไม่ได้แจกเรื่อยเปื่อย ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ดีแต่แจกเงิน ต้องเห็นใจคนผู้มีรายได้น้อยที่เขาไม่มีรายได้ ผู้ประกอบการค้าขาย ขายอาหารร้านเล็ก ๆ ต้องดูทั้งหมด ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ขึ้นทะเบียนไว้ วันนี้ต้องมาดูผลกระทบด้วยคนที่ไม่ได้อยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ต้องให้อีกทางหนึ่ง ขณะนี้กำลังหาข้อมูลตัวเลขประชาชนอยู่ แต่สรุปว่าจะให้เงินคนละ 1,000 บาทต่อเดือน เรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่ว่ารัฐบาลทำอะไรไม่เป็นนอกจากแจกเงิน ให้ไปถามประชาชนที่เดือดร้อนบ้าง เมื่อวานตนก็ได้พบปะกับประชาชนหลายภาคส่วน ทั้งผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ประชาชนทั่วไป ธุรกิจท่องเที่ยวต่าง ๆ มาตรการโดยรวมจึงออกมาตรงนี้ก่อน ถ้าอีก 2 เดือนยังมีปัญหาอีก ก็ต้องว่ากันต่อไปเป็นระยะ ๆ ขอให้ไว้ใจกันบ้าง โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมจะนำพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ให้ได้

 

“ผมยืนยันอย่างแท้จริงว่าผมและคณะรัฐมนตรีทุกคนพร้อมที่จะนำพาพวกเราผ่านพ้นจากวิฤตการณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยเวลานี้ไปให้จงได้ ขอให้ทุกคนช่วยกัน ร่วมมือกัน เมื่อวานนี้มีเรื่องหนึ่งคือประชาชนที่มาพบผม เขาขอให้สื่อที่ลงพาดหัวอะไรที่ร้ายแรงข้างหน้า ขอให้ลดลงหน่อย เพราะเขาก็ห่อเหี่ยวไปเหมือนกัน และทำให้คนไม่ไปซื้อของเขา เขาขอร้องผมมาให้ช่วยบอกกับพวกเราหน่อย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

—————————

 

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

……………………

 

นายกรัฐมนตรีย้ำ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เข้มงวด ควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ ขอประชาชนเชื่อมั่นและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

 

วันนี้ (6 มีนาคม 2563) เวลา 15.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงมาตรการตรวจคัดกรองผู้เดินทาง จากประเทศกลุ่มเสี่ยง และประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ในรายการ Government Weekly สรุปประเด็น ดังนี้

 

ช่วงแรกนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยรัฐบาลได้มีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ตั้งแต่การคัดกรอง ตรวจสอบ การเข้ารักษาที่มีมาตรฐานระดับสูง ทำให้สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่กระจายในประเทศ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง สนามบิน ท่าเรือ ชายแดน ด่านตรวจ จุดสกัดทุกด่าน โดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ ในส่วนจังหวัดต่างๆ เข้ามาช่วยดูแล นอกจากนี้ได้มีการเตรียมมาตรการรองรับแรงงานไทยที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะแรงงานไทยจากประเทศเกาหลีใต้ ถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนไทยที่รัฐบาลต้องดูแล แต่ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยมีมาตรการต้นทาง กักกัน 14 วัน ก่อนเดินทาง และคัดกรองอีกครั้งก่อนออกนอกประเทศ ปลายทางเมื่อผู้ที่กลับจากพื้นที่เสี่ยงและประเทศกลุ่มเสี่ยง จะต้องถูกกักตัวในพื้นที่ควบคุมโรคไม่น้อยกว่า 14 วัน

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ ชี้แจงข้อมูลข่าวสาร ขั้นตอนการเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรค ทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเกษตร รวมถึงผู้มีรายได้น้อย โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. มาตรการช่วยเหลือประชาชน และ 2. มาตรการการเงินการคลังของรัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากส่วนราชการให้ระงับหรือเลื่อนการเดินทางไปประชุม ศึกษาดูงาน ในประเทศที่มีการระบาด ให้ข้าราชการที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงสังเกตอาการและทำงานที่บ้าน 14 วัน และขอความร่วมมือจากเอกชนหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนกิจกรรมที่มีประชาชนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และมหรสพต่าง ๆ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19  ขณะเดียวกันรัฐบาลได้บริหารจัดการหน้ากากอนามัย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลน โดยเข้ามาดูแลตั้งแต่การผลิต การกระจาย การส่งออก การจับกุมผู้ฝ่าฝืนที่จำหน่ายเกินราคา สนับสนุนผู้ผลิต ซึ่งพบว่ามีการขาดแคลนวัตถุดิบจากประเทศต้นทางจึงได้มีการส่งเสริมให้ผลิตหน้ากากอนามัยทางเลือก สำหรับบุคคลทั่วไปที่สุขภาพปกติใช้ป้องกันตนเองและลดปริมาณขยะ

 

ระหว่างดำเนินรายการ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเตือนถึงการเสนอข่าวที่เกินกว่าความจริง ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก โดยย้ำให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง ตามข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างความรับรู้ที่ผิดซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อด้านอื่น ๆ ของประเทศได้

………………………………….

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

…………………………………….

รมต. นร. นายเทวัญ ฯ ในฐานะผอ.ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 แถลงข่าวแบบบูรณาการมาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีกลับไทยทั้งการอำนวยความสะดวกเดินทางกลับ คัดกรอง ติดตาม เฝ้าระวัง

 

วันนี้ (6 มีนาคม 2563) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แถลงข่าว โดยมีนายเชิดเกียรติ  อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร. จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในและโฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งเตือนทุกประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้การป้องกันการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ที่มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เรียกโดยย่อว่า ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 มีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่อย่างถูกต้อง รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน และประสานการช่วยเหลือ ติดตามการปฏิบัติงาน พร้อมชี้แจงประชาชนและภาคเอกชน ประสานความร่วมมือ โดยให้รายงานความคืบหน้าต่อนายกฯ ทุกวัน  หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลหรือร้องเรียน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 288 6070-4 หรือ 1111  นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019             ( COVID-19) ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล บัญชีเลขที่  067-0-13829-0 เพื่อจัดหาและดูแลสิ่งจำเป็นสนับสนุนการป้องกันโรคไวรัสโควิด การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จะเป็นพลังในการร่วมมือร่วมใจของคนไทยที่จะฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

นายเชิดเกียรติ  อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง กระบวนการขั้นตอนแรงงานไทยนอกระบบในเกาหลีใต้ว่า แรงงานไทยพำนักในประเทศเกาหลีใต้ 209,909 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1. กลุ่มพำนักอย่างถูกกฎหมาย จำนวน 57,470 คน 2. กลุ่มพำนักอย่างผิดกฎหมาย จำนวน  152,439 คน   โดยในจำนวนนี้ได้มีการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ถึงขั้นตอนการเดินทางกลับประเทศไทยตามมาตรการจูงใจ ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากสถิติตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2562-1 มี.ค. 2563 แรงงานที่แสดงความประสงค์กลับไทย จำนวน  5,386 คน  ได้มีจำนวนหนึ่งเดินทางกลับไทย จำนวน 4,727 คน  โดยมี 2 ขั้นตอน คือ รายงานตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ตรวจประวัติอาชญากรรม ใช้ระยะเวลา 3-15 วัน เมื่อได้ใบอนุญาตต้องรายงานตัวที่ตม.เพื่อรับเอกสารอีกฉบับหนึ่งจึงนำไปเช็คอินที่เค้าท์เตอร์สายการบิน 2. การคัดกรองก่อนจะขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเป็นแรงผลักดันจากรัฐบาลไทยในการที่ผลักดันให้เกาหลีใต้เพิ่มมาตรการคัดกรองเข้มข้นมากขึ้น หากพบอาการป่วยจะไม่สามารถขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทยได้ จะต้องอยู่ที่สนามบินและมีการคัดกรองอยู่จำนวน 3 จุด ตั้งแต่ก่อนเข้าอาคาร  การคัดแยกอุณหภูมิ  และก่อนขึ้นเครื่อง จึงทำให้มั่นใจได้ว่า หากมีผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศา จะไม่ได้รับการขึ้นเครื่อง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง

 

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการรับมือกับผู้ใช้แรงงานที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ว่า ดูแลคัดกรองตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง โดยการจัดระเบียบที่นั่งภายในเครื่องบิน แยกอาการผู้ป่วย ใส่หน้ากากป้องกัน และเมื่อเครื่องลงจอดจะมีจุดจอดเฉพาะ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการคัดกรอง โดยกระทรวงสาธารณสุขยืนยันประสิทธิภาพในการทำงาน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.กระทรวงสาธารณสุขทราบข้อมูลของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาทุกราย โดยประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอย่างใกล้ชิด 2.มีจุดจอดเครื่องบินจำเพาะ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะนำตัวมาคัดกรองตั้งแต่เดินทางถึงสนามบินพร้อมทั้งให้ความรู้และข้อปฏิบัติ 3.สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย ไม่เพียงแต่ตรวจที่ด่านตรวจแต่มีการติดตามสังเกตอาการ โดยโรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และชุมชน ก็ร่วมช่วยติดตามด้วย 4.ใช้มาตรการทางกฎหมายสำหรับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ กล่าวย้ำว่า “ทุกคนไม่ใช่เชื้อโรค เป็นประชาชนเหมือนกัน” ขอให้ทุกคนเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน

 

รศ.ดร. จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเกาหลีใต้ อำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยเดินทางกลับประเทศ กรณีแรงงานไทยเจ็บป่วยหรือมีผลการตรวจออกมาเป็นบวกนั้น ทางการเกาหลีใต้จะดำเนินการรักษาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลที่กำหนด และไม่จำกัดว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวพำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย และเมื่อแรงงานไทยเดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว อาสาสมัครแรงงานในภูมิลำเนาจะติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกวันทำการตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ กระทรวงงานจัด video conference กับทุกหน่วยงานที่สังกัดภายใต้กระทรวงแรงงานและทูตแรงงานที่ประจำอยู่ต่างประเทศ 13 ประเทศ เพื่อติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

 

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า หลังจากมีข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงมหาดไทย จัดสถานที่สำหรับรองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้ในได้เตรียมสถานที่รองรับไว้พร้อมแล้ว ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมรับมือต่อกลุ่มเป้าหมาย สำหรับผู้ที่กลับมาก่อนที่จะมีมาตรการดังกล่าว มีกลไกส่วนภูมิภาคเข้าไปสังเกตในทุกพื้นที่ที่มีคนไทยเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วเดินทางกลับมายังประเทศไทยด้วย

 

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในและโฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าขณะนี้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยนั้นมี 11 โรงงานและกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 1 ล้าน 2 แสนชิ้นต่อวัน โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วมกันดูแลและควบคุมการผลิตทั้งหมด จะมีการจัดสรรปันส่วนหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาลจำนวน 7 แสนชิ้น เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลน และจะมีบางส่วนที่จัดเตรียมเอาไว้เพื่อนำไปขายในร้านขายปลีก ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เทสโก้ โลตัส รวมถึงร้านค้าธงฟ้าจำนวน 1,400 สาขาทั่วประเทศ  นอกจากนี้ยังมีขบวนรถคาราวานที่จะให้บริการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยจำนวน 111 คันตามจุดต่าง ๆ โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ทางเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน ว่ารถจะไปบริการที่จุดไหนในแต่ละวัน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนหากพบเจอการขายหน้ากากอนามัยเกินราคาสามารถแจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า กรมการค้าภายใน เบอร์โทรศัพท์ 1569 และจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

 

…………………………..

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

Matemnews.com

6 มกราคม 2563